“ผู้เฒ่าไร้รัฐไร้สัญชาติ” ปัญหาและความหวังการได้เป็น “พลเมืองไทย”

(เรื่องโดย ศิริพร กิจประกอบ : ผู้สื่อข่าวกองข่าวเฉพาะกิจ สำนักข่าวไทย) 


“ก่อนหน้านี้ คิดว่าต้องตายแบบสูญเปล่า ตายแบบไม่มีสัญชาติ ถูกเหยียดว่าเป็นต่างด้าวไปตลอดชีวิต  แต่มาวันนี้ดีใจมากที่ได้บัตรประชาชน ได้เป็นคนไทยเต็มตัว ถึงตายก็ตายตาหลับแล้ว” ... “โซซูน เบก่ากู่”  ผู้เฒ่าวัย 65 ปี  เล่าให้ฟังเป็นภาษาอาข่า บนใบหน้าเปื้อนยิ้ม เต็มไปด้วยความภาคภูมิใจเหมือนได้ของขวัญชิ้นใหญ่ที่สุดในชีวิต  ตอนนี้เธอมีศักดิ์และสิทธิ์ได้รับสวัสดิการต่างๆเทียบเท่ากับคนไทยทั่วไป  และยังมีโอกาสได้เดินทางไปเยี่ยมญาติที่ประเทศจีนมาแล้วถึง 2 ครั้ง  โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกทางการจับกุม

“จางจ้า เบก่ากู่” ผู้เฒ่าชาติพันธุ์อาข่าวัย 84 ปี อีกคน ก็ดีใจไม่แพ้กัน โชว์บัตรประชาชนไทย และเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ที่เพิ่งได้รับมาเป็นเดือนที่4  เธอบอกว่าหลังได้สัญชาติไทย ทำให้อุ่นใจและรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น เจ็บป่วยก็กล้าไปหาหมอ ไม่ต้องซื้อยากินเอง และไม่ต้องเป็นภาระลูกหลานเหมือนเมื่อที่ผ่านมา


นอกจากผู้เฒ่าทั้งสองคนนี้แล้ว ยังมีผู้เฒ่าชาติพันธุ์อาข่าอีก 13 คน ของหมู่บ้านกิ่วสะไต อ.แม่จัน จ.เชียงราย ที่ได้รับการพัฒนาสถานะบุคคลจนได้สัญชาติไทยและมีบัตรประชาชน หลังจากที่รอคอยมายาวนานจนผู้เฒ่าบางคนในหมู่บ้านเสียชีวิตไปก่อนแล้ว  ทั้งที่พวกเขาเป็น “ชาวเขาติดแผ่นดิน” ที่เกิดและอยู่ในเมืองไทยมาเนิ่นนาน  ลูกและหลานต่างก็ได้สัญชาติไทยกันไปหมดแล้ว 

ผู้เฒ่าบ้านกิ่วสะไต  เป็นตัวอย่างที่มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา(พชภ.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ช่วยผลักดันพัฒนาสิทธิจากการทำนโยบายพิเศษ(fast track) รวบรวมข้อมูลหลักฐานการอยู่ในพื้นที่ โดยอิงตามเอกสารสำรวจของศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาและเอกสารอื่นๆ  จนได้รับสัญชาติไทยและได้บัตรประชาชนภายใน 7 เดือน สำเร็จเป็นพื้นที่แรก  แต่ก็ยังมีผู้เฒ่าไร้สัญชาติอีกหลายกลุ่ม ที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือต้องอยู่ในสถานะไร้รัฐไร้สัญชาติ  

เดินทางไปอีกไม่ไกล ในพื้นที่อำเภอเดียวกัน ที่บ้านเฮโก  ต.ป่าตึง ยังมีผู้เฒ่าชาติพันธุ์ลีซู “ชาวเขาติดแผ่นดิน” อีกกลุ่ม ที่ลูกหลานของพวกเขาล้วนได้บัตรประชาชนไทยหมดแล้ว แต่ผู้เฒ่าหลายคนกลับตกหล่น แม้จะมีหลักฐานและพยานบ่งชี้ว่าพวกเขาเกิดและอาศัยอยู่ในเมืองไทยมาหลายสิบปี ตามที่ระบุในการสำรวจของศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา  แต่หน่วยงานทางการที่เข้ามาสำรวจในภายหลังกลับระบุว่าพวกเขาเกิดในพม่า ปัญหาเอกสารการสำรวจที่ขัดกัน  จึงทำให้ผู้เฒ่าที่นี่ยังไม่ได้รับการพัฒนาสิทธิ  


“เป็นผู้นำชุมชนแต่กลับถูกเรียกว่า“ต่างด้าว” เป็นเรื่องที่น่าเจ็บปวด ทั้งที่เราก็มีหลักฐานชัดเจนว่าเกิดและอยู่อาศัยในไทยมานาน แต่ทางการไม่ยอมออกบัตรประชาชนไทยให้”

“อาเหล่ งัวยา” อายุ 81 ปี หนึ่งในผู้เฒ่าบ้านเฮโก ตัดพ้อด้วยความน้อยใจ ยืนยันตัวเองเกิดที่ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ และย้ายมาอยู่ที่บ้านเฮโกนานแล้ว เขาเป็นผู้นำสอนศาสนา ดูแลวัฒนธรรมประเพณีของชาติพันธุ์ลีซู คนในหมู่บ้านต่างนับถือ  การอยู่ในสถานะไร้สัญชาติ นอกจากไม่ได้รับสวัสดิการจากภาครัฐแล้ว การจะของบประมาณมาจัดกิจกรรมพัฒนาชุมชนก็ไม่สามารถทำได้

ไม่เพียงแต่กลุ่ม “ชาวเขาติดแผ่นดิน” เท่านั้น ที่ต้องเผชิญกับความล่าช้าในการพัฒนาสิทธิ   ผู้เฒ่าชาติพันธุ์อาข่าอีก 28 คน ที่บ้านป่าคาสุขใจ อำเภอแม่ฟ้าหลวง ซึ่งอาศัยอยู่ในไทยมานานกว่า 50 ปี ถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว และใบสำคัญถิ่นที่อยู่  มีคุณสมบัติครบและยื่นเอกสารขอแปลงสัญชาติไปกว่า 3 ปีแล้ว ก็ยังไม่ได้รับการพัฒนาสิทธิเช่นกัน ทั้งที่กฎหมายระบุว่าต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน

“ครูแดง” นางเตือนใจ ดีเทศน์ ที่ปรึกษาและผู้ก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา ซึ่งทำงานช่วยเหลือกลุ่มชาติพันธุ์ในภาคเหนือมากว่า 40 ปี  บอกว่า ผู้เฒ่าไร้รัฐไร้สัญชาติ เป็นกลุ่มเปราะบางที่สุดในสังคม เนื่องจากศักยภาพทางร่างกายเสื่อมลง  ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เดินทางไปติดต่อราชการลำบาก ไม่มีความรู้เรื่องข้อกฎหมายและระเบียบปฏิบัติเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิ อีกทั้งตัวผู้เฒ่าเอง รวมถึงลูกหลาน และเจ้าหน้าที่รัฐ มักคิดว่า“แก่แล้ว อยู่แต่ในหมู่บ้าน พูดภาษาไทยไม่ได้ ไม่ต้องมีบัตรก็ได้” อีกทั้งยังมีอุปสรรคที่มาจากผู้นำชุมชนไม่ได้ใช้กฎหมายทำงาน และเจ้าหน้าที่รัฐที่มีภาระงานเยอะ ไม่รู้กฎหมายคนไร้รัฐไร้สัญชาติซึ่งมีความซับซ้อน  จึงไม่กล้า เกรงทำผิด และทัศนคติที่ยังมองว่าคนกลุ่มนี้ ไม่ใช่คนไทย

เจ้าหน้าที่บางส่วนมักคิดว่า เอาไว้ทีหลังทำงานอื่นๆก่อน คนพวกนี้ไม่ใช่คนไทย และการเรียกรับผลประโยชน์ เนื่องจากปริมาณงานมีมาก เจ้าของปัญหาก็มีมาก เช่นในพื้นที่อำเภอชายแดนทั้งหลาย บางอำเภอมีเป้าหมาย30,000-50,000คน ขณะที่เจ้าหน้าที่มีเพียงไม่กี่คน นี่คือสภาพปัญหาที่น่าเป็นห่วง”   “ครูแดง”สะท้อนถึงปัญหาที่ยังสั่งสมอยู่มาจนถึงปัจจุบัน

ขณะที่ ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสนุทร นักวิชาการคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า กระทรวงมหาดไทยควรสำรวจจำนวนผู้เฒ่าไร้รัฐไร้สัญชาติและปัญหาที่ประสบอยู่ จะได้ทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงของความล่าช้าในการแปลงสัญชาติ  เพราะกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันก็ครอบคลุมเพียงพอแล้ว  อีกทั้งควรปรับปรุงกฎหมายเพื่อการแปลงสัญชาติให้แก่ชาวเขาและชนกลุ่มน้อย ที่อยู่อาศัยในไทยมานานจนกลมกลืนกับสังคมไทยด้วยเช่นกัน

ปัญหาการรับรองสัญชาติไทยสำหรับ “ชาวเขาติดแผ่นดิน” ตามระเบียบ43 คือ ผู้ที่เกิดในไทยระหว่างวันที่ 10 เม.ย.2456 – วันที่ 13ธ.ค.2515 ให้สันนิษฐานว่ามีสัญชาติไทย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้เป็นอย่างอื่น คณะทำงานมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา และภาคีเครือข่าย เสนอว่าจำเป็นต้องมีนโยบายพิเศษ(Fast Track) เข้ามาช่วยเหลือ เช่น เปลี่ยนหลักเกณฑ์การแปลงสัญชาติของผู้เฒ่าจาก 65 ปี มาเป็น 60 ปี ตามพรบ.ผู้สูงอายุ การทดสอบความรู้ภาษาไทย ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประเทศไทย และร้องเพลงชาติ ควรมีการอนุโลมตามสรรพร่างกายและบริบทพื้นที่ของผู้สูงอายุแต่ละคน กำหนดให้ถือใบสำคัญต่างด้าว 5 ปี และต้องพิสูจน์ว่าอยู่ในไทย20 ปี หลักฐานการอยู่ในไทยไม่ควรกำจัดในเรื่องการถือใบถิ่นที่อยู่ เพราะมีจำนวนมากที่อาศัยกลมกลืนกับสังคมไทยมาไม่น้อยกว่า 40 ปี ส่วนการกำหนดให้ตรวจประวัติอาชญากรรม ควรปรับให้มีขั้นตอนที่ซับซ้อนน้อยลง

ทั้งนี้ประเทศไทยได้ให้คำมั่นกับ UNHCR ในการประชุมที่นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2562 ว่าการแก้ปัญหาผู้เฒ่าไร้รัฐไร้สัญชาติจะเป็นนโยบายที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญ  นี่จึงเป็นอีกความหวังที่ผู้เฒ่าไร้รัฐไร้สัญชาติจะได้รับการพัฒนาสิทธิให้มีสัญชาติไทย  ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการได้รับสิทธิด้านต่างๆ ในฐานะพลเมืองไทย เช่น สิทธิความเป็นพลเมือง สิทธิทางการเมือง สิทธิในการทำงาน  สิทธิการเดินทาง และสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ฯลฯ  ที่สำคัญผู้เฒ่าเหล่านี้จะไม่ถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลังเหมือนที่ผ่านมา .-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

คนขับแท็กซี่ตายคารถ กว่าจะรู้ผ่านไปหลายชม.

รถแท็กซี่จอดอยู่ป้ายรถเมล์ตั้งแต่เที่ยงจนถึงเย็น มีผู้โดยสารขึ้นรถ แล้วก็ลงมา แถมถูกบีบแตรไล่ จนพ่อค้าขายข้าวโพดต้มเข้าไปเรียกพบคนขับนอนคอพับเสียชีวิต

ถอนตัวWHO

“ทรัมป์” ลงนามในคำสั่งให้สหรัฐถอนตัวจากการเป็นสมาชิกอนามัยโลก

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐกล่าววานนี้ว่า สหรัฐจะออกจากการเป็นสมาชิกองค์การอนามัยโลก โดยเขาระบุว่า องค์การอนามัยโลกดำเนินการผิดพลาดในการรับมือกับโรคโควิด-19

พิตบูลขย้ำหัวพระ

“อเมริกันบูลลี่” ขย้ำหัวพระ-กัดข้อมือหาย มรณภาพคากุฏิ

สลด! หลวงพี่ เลขาเจ้าอาวาสวัด เลี้ยงอเมริกันบูลลี่ไว้ตั้งแต่เป็นลูกสุนัข ผ่านไปปีกว่า ถูกขย้ำหัวมรณภาพคากุฏิ ข้อมือขาดหายไป ยังหาไม่พบ

ข่าวแนะนำ

หนุ่มอุดรฯ ดวงเฮง ถูกลอตเตอรี่เกาหลีใต้ 45 ล้านบาท

สุดเฮง! หนุ่มอุดรฯ ถูกลอตเตอรี่เกาหลีใต้ รับเงินรางวัล 45 ล้านบาท ลูกสาวเผยพ่อเป็นคนชอบทำบุญ ก่อนหน้านี้เพิ่งโทรมาบอกให้ใส่บาตร เชื่อผลบุญหนุนโชคลาภ

สามีภรรยาจากอยุธยารับ “เจ้าจอร์จ” ไปดูแล

สามีภรรยาใจบุญจาก จ.พระนครศรีอยุธยา ขอรับ “เจ้าจอร์จ” สุนัขพันธุ์อเมริกันบูลลี่ ไปอุปการะแล้ว หลังกัดแทะร่างพระเจ้าของที่มรณภาพในกุฏิด้วยโรคประจำตัว

ดีเอสไออนุมัติสืบสวนคดีแตงโม คาดตั้งชุดเริ่มสืบได้ 27 ม.ค.นี้

อธิบดีดีเอสไอ อนุมัติให้สืบสวนคดีแตงโม ว่ามีการบิดเบือนกระบวนการยุติธรรมทางอาญาหรือไม่ และมีบุคคลหรือเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องหรือไม่ คาดเริ่มได้ 27 ม.ค.นี้