กรุงเทพฯ 14 ม.ค. – กรมชลประทานเร่งทำแผนที่สำรวจภูมิประเทศใต้น้ำแบบ 3 มิติคลองพระยาบันลือ ตรวจหาสันดอน คำนวณความจุลำน้ำ เพื่อจัดสรรน้ำดีเจือจางค่าความเค็ม มั่นใจควบคุมคุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคได้ตลอดฤดูแล้ง
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ได้สั่งการให้สำนักสำรวจด้านวิศวกรรมและธรณีวิทยาเร่งจัดทำแผนที่สำรวจภูมิประเทศด้านวิศวกรรมแบบ 3 มิติคลองพระยาบันลือ ซึ่งเชื่อมระหว่างแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นคลองสำคัญรองรับน้ำที่ผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาควบคุมค่าความเค็มของลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ทั้งนี้ การจัดทำแผนที่จะทำให้เห็นสภาพภูมิประเทศใต้น้ำตลอดคลองที่ยาว 42.5 กิโลเมตร ทำให้ทราบว่าบริเวณใดมีสันดอน เพื่อนำเครื่องจักรขุดออกไม่ให้เป็นอุปสรรคกีดขวางทางน้ำ นอกจากนี้ ยังสามารถใช้คำนวณความจุของคลองได้อย่างแม่นยำ หากค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงจะตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วว่าต้องใช้น้ำจากแม่น้ำแม่กลองมาเสริมเป็นปริมาตรเท่าไร เพื่อให้คุณภาพน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาเหมาะสมที่จะใช้ผลิตน้ำประปาใช้ในภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมได้
นายทองเปลว กล่าวต่อว่า ฤดูแล้งนี้มีน้ำต้นทุนน้อย ดังนั้น การผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลองมาใช้ต้องนำมาในปริมาตรที่สัมพันธ์กับค่าความเค็ม หากนำมาน้อยจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา แต่หากนำมามากจะสิ้นเปลือง เนื่องจากต้องสำรองไว้ใช้ตลอดฤดูแล้งและต่อเนื่องจนถึงต้นฤดูฝนรวมเวลาอีก 6 เดือน ซึ่งแผนที่ใต้น้ำคลองพระยาบันลือจะเสร็จในอีก 4 วัน โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนานวัตกรรมเครื่องมือสำรวจ เพื่อการชลประทานช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน มีความแม่นยำสูง ใช้ตัดสินใจการบริหารจัดการน้ำได้อย่างรวดเร็วทันเหตุการณ์
นายประทีบ ภักดีรอด ผู้อำนวยการสำนักสำรวจด้านวิศวกรรมและธรณีวิทยา กล่าวว่า นวัตกรรมการสร้างแผนที่ใต้น้ำ 3 มิตินั้น ทำโดยใช้อากาศยานไร้คนขับ (Drone) ที่ติดกล้องสำหรับถ่ายภาพทางอากาศ อีกทั้งใช้เครื่องรับพิกัดจากดาวเทียม (GNSS-RTK) ซึ่งจะทราบค่าพิกัดและค่าระดับที่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (รทก.) นอกจากนี้ ยังมีเรือที่ติดตั้งอุปกรณ์หยั่งความลึกของน้ำและพิกัดแบบอัตโนมัติ (Multi Beam Echo Sounder) จากนั้นนำข้อมูลทั้งหมดมาประมวลผลเพื่อทำแผนที่สำรวจภูมิประเทศด้านวิศวกรรมแบบ 3 มิติ กระบวนการดังกล่าวเป็นนวัตกรรมที่สามารถสร้างแผนที่ใต้น้ำได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีเดิมใช้เวลา 1-2 เดือนขึ้นกับขนาดลำน้ำ แต่นวัตกรรมนี้เร็วขึ้น 7 เท่า เสร็จภายใน 10 วัน มีความถูกต้องแม่นยำสูงมาก โดยแผนที่ที่สร้างขึ้นนี้จะใช้สำหรับการบริหารจัดการน้ำ เพื่อควบคุมค่าความเค็มตลอดฤดูแล้งนี้ รวมทั้งใช้ประกอบการออกแบบและปรับปรุงลำน้ำในระยะยาวได้ด้วย
สำหรับนวัตกรรมเครื่องมือสำรวจชลประทานนี้ได้รับรางวัล Spacial Prize และ The Best of Spacial Prize จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กลุ่มสิ่งประดิษฐ์เพื่อใช้งานในอนาคต ปี 2559 และรางวัลชนะเลิศ Reseach and Development จากรายการ Thailand ITC Awards ปี 2559 โดยสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย.-สำนักข่าวไทย