กทม. 9 ม.ค. – นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ระบุสหรัฐได้เปรียบอิหร่านทั้งด้านกำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ แต่อิหร่านก็มีรูปแบบการตอบโต้ที่จะประมาทไม่ได้ ขณะที่วิเคราะห์รูปแบบสงครามสมัยใหม่เน้นเทคโนโลยี เห็นได้ชัดเจนจากการใช้โดรนสังหารที่ไม่ใชช่การใช้ครั้งแรก
“สุรชาติ บำรุงสุข” อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ วิเคราะห์ถึงแสนยานุภาพของอิหร่านและสหรัฐ จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่าง 2 ประเทศที่สหรัฐใช้โดรนสังหารนายพลระดับสูงของอิหร่าน และอิหร่านตอบโต้ด้วยการยิงขีปนาวุธโจมตีกองกำลังสหรัฐในอิรัก
มองว่าสหรัฐได้เปรียบทั้งด้านอาวุธและกำลังทหาร ขณะที่อิหร่านมีกำลังทหารเพียง 500,000 เศษ ด้านอาวุธยิ่งไม่ต้องพูดถึง เสียเปรียบแน่นอน แต่ยังมีวิธีอื่นที่จะใช้ตอบโต้ได้ ทั้งการใช้ยุทธวิธีก่อการร้าย การโจมตีร่วมกับเครือข่ายกองกำลังติดอาวุธที่อิหร่านให้การสนับสนุน และการตอบโต้ในรูปแบบสงคราม ซึ่งมองว่ายังไม่ถึงเวลานั้น และอิหร่านยังมีช่องทางตอบโต้อื่นที่จะสั่นสะเทือนระบบเศรษฐกิจทั่วโลก
MQ-9 รีปเปอร์ หรือ Predator B คือชื่อโดรนสังหารที่สหรัฐให้เป็นอาวุธสังหารโจมตีทางอากาศผู้บัญชาการทหารระดับสูงของอิหร่าน นับเป็นอากาศยานควบคุมระยะไกลแบบติดอาวุธครบ อายุการใช้งานยาวนาน ใช้สังหารเป้าหมายแบบสายฟ้าแลบ
อาจารย์สุรชาติ มองว่า อิหร่านก็อาจมีโดรนสังหารเช่นกัน หากยังจำกันได้ถึงเหตุการณ์โดรนโจมตีโรงกลั่นน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ซาอุดีอาระเบีย เมื่อ 14 กันยายน 2562 สหรัฐเชื่อมั่นเป็นฝีมืออิหร่าน นั่นแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงมิติของการทำสงครามอย่างชัดเจน ที่ในอนาคตอาวุธยุทโธปกรณ์ขนาดใหญ่กำลังจะกลายเป็นด้อยค่าล้าสมัย
อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ อิหร่านใช้ยิงขีปนาวุธมากกว่า 12 ลูก ใส่กองทัพสหรัฐในอิรักเพื่อแก้แค้น ไม่ใช้วิธีการก่อการร้าย ขณะที่สหรัฐก็ยังไม่มีการตอบโต้ใดๆ สะท้อนว่าทั้งสองประเทศยังไม่พร้อมที่จะกระโจนเข้าสู่สงครามใหญ่ และหากลุกลามบานปลายจริง อาจมีประเทศมหาอำนาจอย่างรัสเซียและจีนเข้าร่วมพันธมิตรกับอิหร่าน ขณะที่สหรัฐน่าจะดึงนาโต้เข้ามาเป็นพันธมิตร
นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ชี้ว่า ความขัดแย้งนี้เพิ่งจะเริ่มต้น และยังบอกไม่ได้ว่าจะยาวนานแค่ไหน การตอบโต้ของอิหร่านจะขึ้นอยู่กับการตอบโต้ของสหรัฐ และยังมีโอกาสที่อิหร่านจะใช้วิธีตอบโต้ด้วยการก่อการ้าย. – สำนักข่าวไทย