กรุงเทพฯ 9 ม.ค. – กรมประมงหวั่นภัยแล้งรุนแรงและยาวนาน เสี่ยงส่งผลกระะทบต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เตือนเกษตรกรเฝ้าระวัง หมั่นดูแลสัตว์น้ำอย่างใกล้ชิด และปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมประมงอย่างเคร่งครัด
นายบรรจง จำนงศิตธรรม รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ปี 2563 ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะมีพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรงกว่าทุกปีที่ผ่านมา น้ำทั้งในแหล่งน้ำธรรมชาติและแหล่งน้ำชลประทานอาจลดน้อยลงและไม่เพียงพอต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อีกทั้งยังทำให้อุณหภูมิน้ำเกิดการเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นด้วย ซึ่งเป็นสาเหตุให้สัตว์น้ำที่เกษตรกรเลี้ยงไว้เกิดความเครียด อ่อนแอ และตายได้ จึงส่งเจ้าหน้าที่ไปให้ให้คำแนะนำทางวิชาการแก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ สำหรับการเลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อดินควรพิจารณาว่ามีน้ำเพียงพอหรือไม่ หากน้ำน้อยให้ชะลอการเลี้ยงไปก่อน หากเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในหน้าแล้งควรคัดเลือกพันธุ์สัตว์น้ำที่มีความแข็งแรง
จากฟาร์มผู้ผลิตที่ได้มาตรฐานและเชื่อถือได้และควรเริ่มต้นการเลี้ยงสัตว์น้ำที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและปล่อยสัตว์น้ำลงเลี้ยงที่ความหนาแน่นน้อยกว่าปกติ ปรับปรุงซ่อมแซมคันบ่อเพื่อป้องกันการรั่วซึมของน้ำ จัดทำร่มเงาให้สัตว์น้ำในบ่อเลี้ยง เลือกใช้อาหารสัตว์น้ำที่มีคุณภาพดี ลดปริมาณการให้อาหารสัตว์น้ำ จับสัตว์น้ำที่ได้ขนาดขึ้นจำหน่ายหรือบริโภคเพื่อลดปริมาณสัตว์น้ำภายในบ่อ งดเว้นการขนถ่ายสัตว์น้ำ หมั่นตรวจสุขภาพสัตว์น้ำอย่างสม่ำเสมอ กรณีมีสัตว์น้ำป่วยตายควรกำจัดโดยการฝังกลบหรือเผาเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค
ส่วนการเลี้ยงในกระชังควรเลือกแหล่งน้ำที่ตั้งกระชังที่มีระดับความลึกเพียงพอ เมื่อตั้งกระชังแล้วพื้นกระชังควรสูงจากพื้นน้ำไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร เพื่อให้น้ำถ่ายเทได้สะดวกตลอดเวลา และไม่วางชิดกันจนหนาแน่นมากเกินไป เพราะจะไปขัดขวางการไหลของกระแสน้ำ ก่อนปล่อยสัตว์น้ำลงเลี้ยงในกระชัง ควรปรับสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะคุณสมบัติของน้ำในภาชนะลำเลียงสัตว์น้ำ ควรมีคุณสมบัติใกล้เคียงกันกับน้ำที่ต้องการปล่อยสัตว์น้ำ เช่น อุณหภูมิ ค่าความเป็นกรดด่าง เป็นต้น และต้องคอยเฝ้าระวังเรื่องคุณภาพน้ำให้มีความเหมาะสมต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตลอดการเลี้ยงสัตว์น้ำแต่ละชนิด เลือกใช้อาหารสัตว์น้ำที่มีคุณภาพดีและให้ในปริมาณที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นอาหารสดเพื่อป้องกันน้ำเน่าเสีย ทำความสะอาดกระชังสม่ำเสมอ เพื่อกำจัดตะกอนและเศษอาหาร ซึ่งเป็นการตัดวงจรชีวิตปรสิตและเชื้อโรค
นายบรรจง กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคสัตว์น้ำที่ควรเฝ้าระวังในฤดูแล้ง ได้แก่ โรคที่เกิดจากปรสิต เช่น เห็บระฆัง ปลิงใส เห็บปลา เหาปลา และหมัดปลา เป็นต้น โดยสัตว์น้ำที่มีปรสิตจะมีลักษณะอาการว่ายน้ำผิดปกติ ว่ายแฉลบ หรือรวมกลุ่มที่ผิวน้ำ หายใจถี่ มีจุดแดง แผลถลอกตามผิวลำตัว เป็นต้น สำหรับแนวทางการรักษาโรคสามารถปฏิบัติได้โดยการตัดวงจรชีวิตปรสิต กำจัดตะกอนและเศษอาหารที่เกาะติดตามกระชัง ซึ่งเป็นอาหารที่อยู่อาศัยและสืบพันธุ์วางไข่ และใช้สารเคมี เช่น ไตรคลอร์ฟอน (กลุ่มยาฆ่าแมลง) อัตราการใช้ 0.5 – 0.75 ส่วนในล้านส่วน (0.5-0.75 กรัมต่อปริมาตรน้ำ 1 ตัน) ทำทุก ๆ 1 สัปดาห์ ทำซ้ำติดต่อกัน 3 – 4 ครั้ง หรือ ฟอร์มาลินเข้มข้น 200-250 ส่วนในล้านส่วน (พีพีเอ็ม) (200 – 250 มิลลิลิตร (ซีซี) ต่อปริมาตรน้ำ 1 ตัน) นาน 15 – 30 นาที ถ้าเป็นปลาที่เลี้ยงในกระชัง ควรนำปลาขึ้นจากกระชังชั่วคราว พักใส่ถังหรือบ่อ หรือใช้ผ้าใบล้อมกระชังปลาแล้วจึงใช้สารเคมี ไม่ควรใส่ยาหรือสารเคมีลงในแหล่งน้ำโดยตรง
ส่วนโรคที่เกิดจากแบคทีเรีย เช่น สเตรปโตคอสคัส (Streptococcus sp.) แอโรโมแนส (Aeromonas hydrophila) วิบริโอ (Vibrio sp.) เป็นต้น ซึ่งแบคทีเรียดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มแบคทีเรียนักฉวยโอกาส (Opportunistic bacteria) ที่พบและอาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำทั่วไป โดยจะเข้าทำอันตรายสัตว์น้ำเมื่ออ่อนแอ และสามารถแพร่กระจายได้รวดเร็วผ่านกระแสเลือด โดยความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของสัตว์น้ำ ลักษณะสัตว์น้ำที่เป็นโรคเกิดจากแบคทีเรียจะมีอาการ ซึม ไม่กินอาหาร ว่ายน้ำควงสว่าน มีแผลเลือดออกตามผิวลำตัวและอวัยวะต่าง ๆ มีตุ่มฝีที่บริเวณใต้คางและผิวลำตัว ตาขุ่น โปน ครีบกร่อน ท้องบวม เป็นต้น แนวทางการรักษาทำได้โดยใช้ยาต้านจุลชีพ ผสมอาหารให้กินตามคำแนะนำในฉลากยา เกษตรกรควรติดตามข่าวสารการพยากรณ์อากาศจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และหากมีปัญหาในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ สามารถขอรับคำปรึกษาและคำแนะนำได้ที่ สำนักงานประมงจังหวัด ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด /สัตว์น้ำชายฝั่ง ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดทุกแห่งทั่วประเทศ.-สำนักข่าวไทย