กรุงเทพฯ 3 ม.ค. – รมว.เกษตรฯ สั่งบริหารจัดการแหล่งน้ำทั้งระบบ แก้ภัยแล้งระยะสั้นและระยะยาว เพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำ พร้อมทำฝนหลวงช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ด้านอธิบดีกรมชลฯ ทำแผนปฏิบัติการจ้างแรงงาน เสริมรายได้เกษตรกรที่ไม่สามารถเพาะปลูกได้ตามปกติจากปัญหาภัยแล้ง
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สั่งการให้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งอย่างเคร่งครัด โดยแผนการจัดสรรน้ำทั้งประเทศในช่วงฤดูแล้งปี 2562/2563 ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 – 30 เมษายน 2563 มีน้ำจัดสรรให้ 17,699 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น อุปโภค-บริโภค 2,300 ล้าน ลบ.ม. รักษาระบบนิเวศและอื่น ๆ 7,006 ล้าน ลบ.ม. สำรองน้ำต้นฤดูฝนปี 2563 (พ.ค.-ก.ค. 63) รวม 10,540 ล้านลูกบาศก์เมตร เกษตรฤดูแล้งปี 2562/2563 จำนวน 7,874 ล้าน ลบ.ม. และอุตสาหกรรม 519 ล้าน ลบ.ม. รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเกษตรกรรับทราบสถานการณ์น้ำต้นทุน แนวทางการบริหารจัดการน้ำ ตลอดจนส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพฤติมาเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อย ทดแทนการทำนาปรัง ซึ่งจะกำหนดชนิดพืชให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 22 จังหวัดในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาซึ่งมีน้ำเพียงพอเฉพาะการอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศ และเลี้ยงพืชต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ยังให้กรมชลประทานขุดสระน้ำในไร่นานอกเขตชลประทานขนาด 1,260 ลบ.ม.ให้เกษตรกรที่ขอรับการสนับสนุนทั่วประเทศ 40,000 บ่อ เพื่อกักเก็บน้ำบรรเทาและชะลอความแห้งแล้ง เพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ดินในฤดูฝนทิ้งช่วงหรือฤดูแล้งในระดับไร่นาให้เกษตรกรสามารถมีน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง สำหรับปลูกพืชผักแบบผสมผสานเลี้ยงปลาและตกกล้าเตรียมสำหรับทำนาในฤดูเพาะปลูก ซึ่งเป็นการทำการเกษตรแบบใช้น้ำน้อย
นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ปี 2563 มีแผนก่อสร้างแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็กและแก้มลิงรวม 421 โครงการ เมื่อดำเนินการเสร็จทั้งโครงการจะเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 1,232,121 ไร่ และเพิ่มปริมาตรเก็บกัก 942.00 ล้าน ลบ.ม. ส่วนโครงการที่ดำเนินการก่อนนี้จะเสร็จปี 2563 ได้พื้นที่ชลประทาน 176,968 ไร่ และปริมาตรน้ำเก็บกัก 199.54 ล้าน ลบ.ม. จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ปัจจุบันสภาพฝนมีความผันแปรสูงมาก ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำท่าและน้ำในแหล่งเก็บกักน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปี 2562 ในลุ่มน้ำเจ้าพระยามีน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำเกินแผนที่ได้จัดสรรไว้ทำให้เกิดปัญหาการรุกล้ำของน้ำเค็ม ส่งผลต่อระบบนิเวศและคุณภาพน้ำด้านการเกษตรกรรม – อุปโภคบริโภค จึงมีแผนการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างในฤดูแล้ง ปี 2562/2563 จำนวน 850 ล้าน ลบ.ม. สำหรับในอนาคตจะพิจารณาผันน้ำมาสนับสนุนลุ่มน้ำเจ้าพระยา
นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า ได้สั่งการกรมฝนหลวงและการบินเกษตรปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกพืช ป่าไม้ และเพิ่มน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ โดยมีศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคทั้ง 5 ศูนย์ และจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วเพื่อติดตาม เฝ้าระวังสภาพอากาศ และสามารถปฏิบัติการฝนหลวงได้เมื่อสภาพอากาศเอื้ออำนวยในการช่วยเหลือพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค เกษตรกรรม การเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ รวมทั้งการบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่า และจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 11 – 13 หน่วยปฏิบัติการเพื่อปฏิบัติการฝนหลวงให้ครอบคลุม 25 ลุ่มน้ำหลักในพื้นที่ 77 จังหวัด ซึ่งจะมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 230 ล้านไร่
ส่วนคำถามที่ว่าปัจจุบันนี้ยังมีการตรวจสอบพบว่ามีเกษตรกรบางส่วน ยังคงปลูกข้าวนอกฤดูกาลในพื้นที่กว่า 1.5 ล้านไร่ นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ชาวนาที่ปลูกข้าวน่าจะมีแหล่งน้ำของตนเอง ส่วนในอนาคตหากพบว่าในพื้นที่ปลูกข้าวเหล่านี้์ต้องการน้ำช่วยเหลือ ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ คงให้ความช่วยเหลือปล่อยน้ำให้เท่าที่ทำได้ โดยย้ำว่าก่อนหน้านี้ภาครัฐได้เตือนแล้วว่าในช่วงปลายปีจนถึงต้นปี 2563 จะมีปัญหาภัยแล้งขาดน้ำ เพื่อให้เกษตรกรปรับตัว
นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวย้ำว่า ในส่วนของการหาแหล่งรายได้ชดเชยให้แก่เกษตรกรนั้น ภาครัฐได้มีโครงการเปลี่ยนให้เกษตรกรไปทำปศุสัตว์ 10 เมนู เช่นการเลี้ยงโค ไก่ไข่ ทดแทนตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้เคยระบุไปก่อนหน้านี้และมั่นใจว่าเกษตรกรจะมีรายได้ทดแทนภายใน 4 เดือน ในช่วงที่ประสบปัญหาภัยแล้ง