กรุงเทพฯ 2 ม.ค. – หลังห้างสรรพสินค้าและร้านค้าทั่วประเทศ งดให้บริการถุงพลาสติกแบบ 100% ประชาชนต่างตื่นตัวหันมาพกถุงผ้า ขณะที่หลายคนนำอุปกรณ์ที่มีในบ้านมาใช้ใส่สินค้าแทนถุงพลาสติกกันอย่างสร้างสรรค์
ภาพลูกค้านำถุงกระสอบปุ๋ย กระบุงจักสาน และถังน้ำ ไปจับจ่ายซื้อสินค้าในร้านสะดวกซื้อ แทนการใช้ถุงพลาสติก ที่ จ.นครราชสีมา เป็นหนึ่งในตัวอย่างการปรับตัวอย่างสร้างสรรค์ หลังห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศ กว่า 75 บริษัท เริ่มงดให้บริการถุงพลาสติกหูหิ้วแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือถุงก๊อบแก๊บ ความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน ให้แก่ลูกค้า เมื่อวานนี้ (1 ม.ค.) ซึ่งผลตอบรับค่อนข้างดี
อย่างที่เดอะมอลล์ บางกะปิ ลูกค้าส่วนใหญ่เข้าใจและให้ความร่วมมือนำถุงผ้าจากบ้านมาใช้จับจ่ายซื้อสินค้า บางคนที่ไม่ได้ตั้งใจมาซื้อสินค้า ทางห้างฯ ก็มีถุงผ้าสปันบอนด์ ที่ผลิตจากเส้นใยสังเคราะห์ ย่อยสลายง่าย ใช้เวลาเพียง 5-10 ปี และนำกลับมาใช้ซ้ำได้ ขายให้หลากหลายขนาด มีตั้งแต่ราคา 3-6 บาท
ส่วนถุงผ้าทั่วไป ขายในราคา 100 กว่าบาท หากซื้อสินค้าครบ 300 หรือ 500 บาท ก็สามารถแลกรับกระเป๋า Reusable Bag ได้ฟรี และยังมีบริการกล่องลังกระดาษฟรี ให้ลูกค้าที่ต้องการแพ็กสินค้าที่มีน้ำหนักและขนาดใหญ่อีกด้วย
ผู้จัดการแผนกแคชเชียร์ บอกว่า การงดให้บริการถุงพลาสติก 100% ในวันแรก แม้จะมีอุปสรรคอยู่บ้าง แต่ลูกค้าส่วนใหญ่พร้อมเข้าใจและปรับตัว
กรุงเทพมหานคร นำร่องตั้งเป้าให้ทุกหน่วยงานช่วยกันลด ละ เลิกการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วและโฟม ตั้งแต่ต้นปีนี้ อีกทั้งขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่ กทม.ทุกคน ให้คำแนะนำแก่ประชาชนที่มาติดต่อราชการ ห้ามนำถุงพลาสติก ถุงพลาสติกหูหิ้ว และโฟม เข้ามาในอาคาร
ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีการใช้ถุงพลาสติก โฟมบรรจุอาหาร และแก้วพลาสติก มากถึง 9,750 ล้านใบ/ปี วัสดุเหล่านี้ย่อยสลายยาก ต้องใช้เวลานานกว่า 400 ปี สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งทางบกและทางทะเล รัฐบาลตั้งเป้าหมายภายในปี 2570 จะลดปริมาณพลาสติกได้ราว 780,000 ตัน/ปี ช่วยประหยัดงบการจัดการขยะมูลฝอยได้ 3,900 ล้านบาท/ปี ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 1.2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ และตั้งเป้าจะยกเลิกการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง 4 ชนิด คือ ถุงพลาสติกหูหิ้ว หลอดพลาสติก แก้วพลาสติก และกล่องโฟม ให้หมดไปจากประเทศไทย โดยในปีนี้จะนำเสนอเป็นกฎหมายบังคับใช้อย่างจริงจัง. – สำนักข่าวไทย