กรุงเทพฯ 27 ธ.ค. – GGC แจงคืบหน้าคดีสตอกปาล์มล่องหน คาดรับรู้กำไรพิเศษภายในปีนี้กรณีรับคืนวัตถุดิบหลังทำสัญญาประนีประนอมคู่ค้าบางราย
บมจ.โกลบอลกรีนเคมิคอล (GGC) แจ้งความคืบหน้าการดำเนินการเกี่ยวกับเหตุการณ์วัตถุดิบคงคลังขาดหายที่เกิดขึ้นในช่วงเดือน พ.ค.61 นั้น ได้มีการดำเนินคดีและดำเนินการตามกฎหมายทั้งในส่วนของคดีอาญา และคดีแพ่ง โดยคดีอาญาได้แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญากับคู่ค้าและพนักงานที่เกี่ยวข้องต่อพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ในไตรมาส 3/61 นั้น ปัจจุบันพนักงานสอบสวนสามารถสรุปสำนวนได้ในบางคดี และได้เริ่มทยอยแจ้งข้อกล่าวหากับผู้กระทำความผิดบางรายแล้ว
ด้านคดีแพ่งนั้น บริษัทถูกฟ้องร้องคดีแพ่ง 2 คดี โดยคดีแรกสถาบันการเงินแห่งหนึ่งได้ยื่นฟ้องคดีแพ่งเพื่อเรียกร้องให้บริษัทคู่ค้า กรรมการของบริษัทคู่ค้า และบริษัท เป็นจำเลยร่วมกันในข้อหาผิดสัญญาสนับสนุนวงเงินสินเชื่อ ขายลดตั๋วสัญญาใช้เงิน โอนสิทธิการรับเงินค้ำประกัน และบังคับจำนอง ซึ่งเมื่อวันที่ 28 ต.ค.62 โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องเฉพาะบริษัท และศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องเฉพาะบริษัท และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาล
ส่วนคดีแพ่งที่ 2 นั้น บริษัทแห่งหนึ่ง ได้ยื่นฟ้องคดีแพ่งเพื่อเรียกร้องให้บริษัทคู่ค้ารายหนึ่งและบริษัท เป็นจำเลยร่วมกันในข้อหาผิดสัญญาเงินกู้ยืมและโอนสิทธิเรียกร้องโดยเรียกค่าเสียหายให้ร่วมกันชดใช้ เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 324.65 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการสืบพยานโจทก์และจำเลย
อย่างไรก็ตาม ในปี 62 บริษัทได้เจรจากับคู่ค้าบางรายและสามารถบรรลุข้อตกลง โดยเข้าทำสัญญาประนีประนอมยอมความ กับคู่ค้าจำนวน 2 ราย ซึ่งคู่ค้าดังกล่าวได้ยอมรับความผิดตามที่บริษัทแจ้งความร้องทุกข์ และยินยอมส่งมอบวัตถุดิบค้างส่ง จำนวนประมาณ 22,800 ตัน คืนให้แก่บริษัท และเพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว คู่ค้ารายดังกล่าวได้จดทะเบียนจำนองที่ดินเนื้อที่ประมาณ 44 ไร่เป็นหลักประกันการชำระหนี้ และมีบุคคลที่น่าเชื่อถือเป็นผู้ค้ำประกันด้วย ทั้งนี้ บริษัทได้ดำเนินการถอนแจ้งความคดีอาญากับคู่ค้ารายดังกล่าวแล้ว
ในปี 62 บริษัทได้ทบทวนการตั้งสำรองค่าใช้จ่ายจากความเสียหายจากเหตุการณ์วัตถุดิบคงคลังขาดหายและได้มีการกลับรายการสำรองดังกล่าว จำนวนประมาณ 210 ล้านบาท ตามมูลค่าจากการตีราคาของหลักประกันที่ได้รับตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว โดยมูลค่าดังกล่าวเป็นการกลับรายการที่น้อยกว่าราคาประเมินที่เป็นไปตามสมมุติฐานของหลักการการขายทอดตลาด และในปี 2562 บริษัทรับรู้รายการพิเศษจากการรับคืนวัตถุดิบจากเหตุการณ์วัตถุดิบคงคลังขาดหายจำนวน 16 ล้านบาท จึงทำให้มูลค่าความเสียหายจากเหตุการณ์วัตถุดิบคงคลังขาดหายลดลง
จากการที่บริษัทสามารถบรรลุข้อตกลง โดยเข้าทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับคู่ค้าบางรายดังกล่าว ทำให้บริษัทสามารถลดหรือบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นได้จำนวนหนึ่ง
GGC ระบุอีกว่า คณะกรรมการบริษัทได้กำหนดนโยบายและแผนงานที่จะดำเนินการในเรื่องเหตุการณ์วัตถุดิบคงคลังขาดหายและการบริหารจัดการวัตถุดิบคงคลังของบริษัท สำหรับปี 63 โดยคดีอาญา จะประสานงานให้พนักงานสอบสวนสรุปสำนวนส่งให้พนักงานอัยการโดยเร็ว เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาล บริษัทจะยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการและยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายในส่วนทางแพ่งให้แก่บริษัทพร้อมกันด้วย ซึ่งเมื่อศาลพิพากษาในส่วนคดีอาญาว่าจำเลยได้กระทำความผิดก็จะพิพากษาให้จำเลยชดใช้ในส่วนทางแพ่งพร้อมกันโดยไม่ต้องไปฟ้องคดีแพ่งใหม่
สำหรับคู่ค้าที่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ บริษัทจะติดตามให้คู่ค้าดังกล่าวส่งมอบวัตถุดิบค้างส่ง คืนให้แก่บริษัทตามแผนการจัดส่งตามสัญญาต่อไป ทั้งนี้ หากคู่ค้ารายใดปฏิบัติผิดสัญญา บริษัทจะพิจารณาฟ้องร้อง และบังคับชำระหนี้จากหลักประกันต่อไป
ด้านการปรับปรุงระบบการควบคุมภายในของบริษัทนั้น ในปี 62 บริษัทได้ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญภายนอกดำเนินการทบทวน สอบทาน และให้ความเห็นในการปรับปรุงระบบควบคุมภายในของบริษัทเพิ่มเติม โดยครอบคลุมกระบวนการสำคัญทั่วทั้งองค์กร ผู้เชี่ยวชาญได้ดำเนินการสอบทานแล้วเสร็จ และจัดทำรายงานและข้อเสนอแนะและให้ความเห็นว่าบริษัทได้มีการออกแบบการควบคุมภายในของกระบวนการในจุดที่สำคัญไว้แล้ว
การดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน บริษัทปรับตัวเพื่อเตรียมความพร้อมรับมาตรฐาน B10 ที่ภาครัฐประกาศใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป เพื่อเป็นการรักษาความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจไบโอดีเซล รวมถึงยังได้ปรับปรุงระบบการประเมินคู่ค้า (Supplier credit rating) เพื่อให้ระบบการจัดซื้อวัตถุดิบมีความรัดกุมมากยิ่งขึ้นด้วย
นอกจากนี้ บริษัทยังดำเนินงานตามแผนการเติบโตทางธุรกิจที่กำหนดไว้ ซึ่งบริษัทมีโครงการที่สำคัญ คือ โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการระยะที่ 1 โครงการดังกล่าวเป็นโครงการลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพครบวงจร ประกอบด้วย โรงงานผลิตเอทานอล ไฟฟ้าชีวมวล ระบบสาธารณูปโภค และระบบส่งเสริมกระบวนการผลิตกลางของโครงสร้าง พื้นฐานรองรับโครงการระยะที่ 2 โดยคาดว่าจะสามารถประกาศการดำเนินการเชิงพาณิชย์ในช่วงไตรมาส ที่ 1/64 . – สำนักข่าวไทย