ชัยภูมิ 25 ธ.ค.-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สั่งการด่วนกรมชลประทานตั้ง
“ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขและบรรเทาวิกฤตภัยแล้ง
ปี 2562/63” ตามบัญชานายกรัฐมนตรี เน้นแก้ไข
บรรเทาวิกฤติภัยแล้ว รวมถึงบูรณาการทุกหน่วยงานช่วยเหลือประชาชน
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า
ได้สั่งการด่วนที่สุดให้กรมชลประทานตั้ง “ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขและบรรเทาวิกฤตภัยแล้ง
ปี 2562/63” เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบตามบัญชาของพลเอกประยุทธ์
จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งวันนี้ (25 ธ.ค.)
เดินทางมาตรวจติดตามการแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งขณะนี้กระทรวงมหาดไทยประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งทั่วประเทศแล้ว
11 จังหวัด นอกจากนี้ยังสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดชุดออกสำรวจข้อมูลน้ำแยกเป็นน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร
หากพบพื้นที่ใดขาดแคลนน้ำได้เร่งออกแจกจ่ายน้ำให้แก่ประชาชน
รวมทั้งยังขุดบ่อบาดาลนำน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน
นายเฉลิมชัยกล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ เตรียมพร้อมช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่
โดยในเขตชลประทานยืนยันว่า
ไม่มีปัญหาขาดแคลนน้ำแน่นอนเนื่องจากวางแผนบริหารจัดการน้ำมาล่วงหน้าและดำเนินการตามแผนอย่างเคร่งครัด
ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ช่วยเหลือ โดยขอความร่วมมือเกษตรกรงดเว้นการปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ที่แจ้งล่วงหน้าแล้วว่า
ไม่มีน้ำสนับสนุนโดยเฉพาะลุ่มเจ้าพระยา สำหรับบางพื้นที่ที่มีน้ำเพียงพอทำการเกษตร
ขอให้ฟังคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ว่า สามารถเพาะปลูกพืชใดได้บ้าง
โดยฤดูแล้งนี้เน้นการปลูกพืชใช้น้ำน้อยซึ่งขอความร่วมมือเกษตรกรปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเพื่อไม่ให้พืชผลเสียหายจากการขาดน้ำ
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า
เตรียมลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานแก้ไข บรรเทาวิกฤตภัยแล้ง
และการบูรณาการให้ความช่วยเหลือประชาชนของกรมชลประทานเพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยจะบูรณาการทั้งหน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯ
และหน่วยงานในพื้นที่เพื่อเชื่อมโยงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ
สำหรับ “ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขและบรรเทาวิกฤตภัยแล้ง ปี
2562/63” มีอธิบดีกรมชลประทานเป็นประธาน
จะใช้ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) เป็นสถานที่ปฏิบัติงาน
มีหน้าที่เฝ้าระวัง ติดตาม ประเมินวิเคราะห์แนวโน้มของสถานการณ์
รวมทั้งแจ้งเตือนภัยให้กับประชาชน สื่อสาร
ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้งและแนวทางในการลดผลกระทบจากวิกฤตภัยแล้ง
กำหนดแนวทางการปฎิบัติงานเชิงบูรณาการในการแก้ไขและการให้ความช่วยเหลือ
ประสานข้อมูล วิเคราะห์สถานการณ์
ประเมินความต้องการและความจำเป็นเพื่อจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์
เครื่องจักรเครื่องมือในการบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยแล้ง
ตลอดจนจัดทำรายงานสถานการณ์ รวมทั้งผลการดำเนินการ แก้ไข บรรเทา และการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตภัยแล้งรายงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ
ทุกระยะ-สำนักข่าวไทย