กรุงเทพฯ 9 ธ.ค. – ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เตือนธุรกิจไทยเผชิญหลายโจทย์หินในปีหน้าทั้งเงินบาทแข็ง ภัยแล้ง การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ กดดันจีดีพีปี 63 เหลือโตร้อยละ 2.7 พร้อมหั่นจีดีพีปีนี้ เหลือโตร้อยละ 2.5
นางสาวณัฐพร ศรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวในงานเสวนาเรื่อง “แนวโน้มธุรกิจ ท่ามกลางโจทย์หินปี 2563” ว่า การชะลอตัวของการส่งออก จากผลสงครามการค้า และเงินบาทที่แข็งค่า ส่งผลให้การส่งออกปีนี้ติดลบร้อยละ 2.5 จากเดิมคาดติดลบร้อยละ 1 รวมถึงการลงทุนโดยรวมที่โตต่ำเพียงร้อยละ 2.3 และความล่าช้าของการประกาศใช้ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2562 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.5 จากเดิมที่ร้อยละ 2.8
สำหรับในปี 2563 คาดการณ์จีดีพีขยายตัวที่ร้อยละ 2.7 กรอบประมาณการที่ร้อยละ 2.5 – 3 โดยหวังแรงหนุนจากการที่รัฐบาลเร่งผลักดันร่างพ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 รวมถึงการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ อย่างไรก็ตามในกรณีสถานการณ์ทางการเมือง ส่งผลกระทบให้เกิดความล่าช้าในการผลักดันงบประมาณใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและมีผลกระทบเชิงลบต่อความเชื่อมั่น ของการลงทุนภาคเอกชนก็อาจทำให้จีดีพีปีหน้าโตร้อยละ 2.5 หรือต่ำกว่านั้นได้ เพราะภาคการส่งออกยังคงตัวต่อเนื่อง คาดหดตัวร้อยละ 1 ตามตลาดส่งออกหลักที่ยังมีทิศทางชะลอตัว รวมทั้งปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนไม่น่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงได้ในอนาคตอันใกล้ และเงินบาทยังคงมีทิศทางแข็งค่า เคลื่อนไหว 29.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในสิ้นปี 2563 โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมซึ่งจะกดดันให้เงินดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่า โดยคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)มีโอกาสลดดอกเบี้ยต่อในไตรมาส 1/63 หากเศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าคาด ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายยิ่งต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
ด้านธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทยนั้นคาดว่าจะเผชิญ 4 โจทย์หิน 1. สินเชื่อเติบโตจำกัดร้อยละ 3.5 เท่ากับปีที่แล้วตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว 2. หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ปรับสูงขึ้นจากปีก่อน 3. ค่าธรรมเนียมขยายตัวเพียงร้อยละ1-2 และ 4. ทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาลง รวมทั้งการส่งสัญญาณของทางการที่ต้องการให้ธนาคารช่วยลูกค้า และลดดอกเบี้ยเงินกู้ขาเดียว จะมีผลกดดันส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก-กู้ (NIM ) ลดลง ประมาณร้อยละ 0.08
ด้านนางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ภาคการผลิตเผชิญโจทย์หินเรื่องค่าเงินบาทที่ยังแข็งค่าต่อเนื่อง หลุด 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหากเงินบาทเฉลี่ยที่ 30 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐในปี 2563 จะกระทบสินค้าเกษตร รถยนต์และท่องเที่ยว โดยการผลิตรถยนต์ปีหน้าอาจลดลงเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน รวมทั้งจะส่งผลต่อภาคการผลิตหดตัว หรือลดกำลังการผลิตลง จนกระทบการจ้างงาน โดยตำแหน่งงานภาคการผลิตจะหายไปอีก 30,000 ตำแหน่ง จากปี 2562 ที่หายไปใกล้ 100,000ตำแหน่ง ขณะที่ภัยแล้งในปีหน้าคาดว่าจะรุนแรงกว่าปีนี้ ซึ่งจะกระทบต่อจีดีพีภาคการเกษตรและรายได้เกษตรกรมีโอกาสหดตัวประมาณ ติดลบร้อยละ 0.5-0 จากขยายตัวร้อยละ2.2
ส่วนโจทย์เรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ5-6 บาทในปี 2563 นั้น จะมีผลเพิ่มต้นทุนแรงงานอีกร้อยละ 0.3 ซึ่งเป็นการเพิ่มโจทย์ยากให้กับธุรกิจ ขณะที่ธุรกิจเกษตรจะเป็น กลุ่มที่เผชิญผลกระทบทั้งค่าเงินบาทแข็งค่า ภัยแล้งและขึ้นค่าแรงพร้อมๆกัน ซึ่งภาครัฐอาจต้องเตรียมมาตรการเฉพาะด้านเพื่อดูแลกลุ่มเกษตร
ส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์คาดว่าจะยังไม่ฟื้นตัวผู้ประกอบการระวังการเปิดโครงการใหม่ และยังมีปัญหาที่อยู่อาศัยค้างสต๊อกอีก 200,000 หน่วย ซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลา 2 ปี จะสามารถเคลียร์ได้
อย่างไรก็ตามมีธุรกิจที่ไปได้คือธุรกิจท่องเที่ยว แม้อัตราการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติชะลอลงแต่ยังมีตลาดท่องเที่ยวต่างชาติที่สร้างโอกาสทางธุรกิจได้ทั้งนักท่องเที่ยวจีนอาเซียนและอินเดีย รวมถึงตลาดไทยเที่ยวไทย ซึ่งภาครัฐสามารถส่งเสริมหรือออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวเพื่อหนุนเศรษฐกิจในปี 2563 เพราะรายได้การท่องเที่ยวมีสัดส่วนต่อจีดีพีถึงร้อยละ 18 . – สำนักข่าวไทย