กรุงเทพฯ 15 พ.ย. – พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิด ที่กำลังจะถูกยกเลิกการใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมนี้ ขณะนี้มีพวกฉวยโอกาสลักลอบนำสารเคมีเหล่านี้มาเป็นส่วนผสมในสารชีวภัณฑ์ แล้วอ้างว่าเป็นสารธรรมชาติใช้แทนสารเคมีได้ ทำให้เกษตรกรตกเป็นเหยื่อ และอาจได้รับอันตรายเพราะสัมผัสโดยตรง รวมทั้งประชาชนที่บริโภคผลผลิต
การเข้าตรวจค้นบริษัท 2 แห่ง ที่เป็นทั้งแหล่งผลิตและจำหน่ายสารชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืช ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พร้อมกัน 5 จุด ใน 3 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี นนทบุรี และนครราชสีมา เกิดขึ้นหลังใช้เวลาสืบสวนกว่าครึ่งปี ก่อนล่อซื้อผลิตภัณฑ์ ส่งตรวจกรมวิชาการเกษตร และพบว่ามีส่วนผสมของพาราควอตคลอไรด์ และไกลโฟเซต-ไอโซโพรพิลแอมโมเนียม ที่เป็นสารควบคุมตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535
ความผิดที่สำคัญคือ ผลิตหรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท และผลิตหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยไม่ได้ขึ้นทะเบียน มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 300,000 บาท แต่หากความผิดนี้เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 ซึ่งตามมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ทั้งพาราควอต และไกลโฟเซต จะถูกยกระดับขึ้นเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามครอบครอง ผลิต นำเข้า จำหน่าย หรือพูดง่ายๆ คือ ยกเลิกการใช้ หากฝ่าฝืนมีอัตราโทษสูงกว่าความผิดเดิมมาก จำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท
รองอธิบดีดีเอสไอ ให้ข้อมูลว่า บริษัทเหล่านี้ไม่ได้แค่ผลิตเท่านั้น แต่มีการสั่งสารเคมีมากักตุน สร้างความเสียหายนับสิบล้านบาท และยังสืบสวนพบอีกหลายบริษัทที่ทำแบบเดียวกัน ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน
สารชีวภัณฑ์ เป็นผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชที่ผลิตหรือพัฒนามาจากสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์ หรือจุลินทรีย์ แต่ไม่นับรวมสารที่สกัดหรือแยกได้จากสิ่งมีชีวิตที่เป็นสารเคมีเชิงเดี่ยว สารชีวภัณฑ์เป็นหนึ่งในทางเลือกที่มีการเสนอให้เกษตรกรนำไปใช้ทดแทนสารเคมี 3 ชนิด คือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ที่จะมีการยกเลิกการใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมนี้
นักวิชาการยืนยันว่า สารชีวภัณฑ์สามารถป้องกันกำจัดศัตรูพืชได้บางส่วน แต่ยังไม่มีที่สามารถกำจัดได้ 100% การลักลอบผสมสารพาราควอตและไกลโฟเซตในสารชีวภัณฑ์ แล้วหลอกลวงว่ากำจัดวัชพืชได้อย่างปลอดภัย ไม่เกิดอันตรายต่อสุขภาพ จึงถือเป็นการฉวยโอกาสเอาเปรียบเกษตรกรที่ต้องสัมผัสโดยตรง รวมถึงผู้บริโภคที่จะได้รับสารเคมีผ่านพืชผลทางการเกษตรโดยไม่รู้ตัว
เหยื่อธุรกิจครั้งนี้ คือ เกษตรกรมากกว่า 1,000 ราย ที่หวังใช้สารชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดศัตรูพืช แต่ที่น่ากังวล คือ รูปแบบธุรกิจที่โพสต์ขายผ่านเฟซบุ๊ก โดยมีแรงจูงใจเรื่องรายได้และรางวัล หากทำยอดได้ตามเป้า ซึ่งอาจเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ และยิ่งเครือข่ายขยายออกไปเท่าไร อันตรายจากสารเคมีก็จะยิ่งแพร่กระจายได้มากตามไปด้วย. – สำนักข่าวไทย