“ปารีณา” ตอบปมตรวจสอบที่ดิน ให้เป็นไปตามกระบวนการ

กทม. 14 พ.ย. – ประเด็นที่ดินของ น.ส.ปารีณา ที่มีร้องเรียนให้ตรวจสอบ เจ้าตัวระบุขอให้เป็นไปตามกระบวนการ ขณะที่หลายหน่วยงานออกมารับลูกเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง


วันนี้ผู้สื่อข่าวสอบถาม น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ถึงประเด็นที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะกรรมาธิการงบประมาณ พรรคเพื่อไทย ยื่นเรื่องร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบที่ดินของเธอ บริเวณหลังเขาสน หมู่ 6 ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นที่ดิน ภ.บ.ท.5 จำนวน 58 แปลง เนื้อที่ 1,706 ไร่ ว่ามีการครอบครองโดยถูกกฎหมายหรือไม่ โดย น.ส.ปารีณา ตอบเพียงสั้นๆ ว่าขอให้เป็นไปตามกระบวนการ 


ป.ป.ช.ชี้หากกรณีที่ดิน “ปารีณา” มีมูล ก็พร้อมไต่สวน 

ด้าน พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เมื่อมีผู้ร้อง ต้องเข้าไปดูว่าอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.หรือไม่ ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการตรวจสอบ เบื้องต้นหากเห็นว่าไม่เข้ากฎหมาย ป.ป.ช. ก็สามารถให้ตำรวจ หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ  (ป.ป.ท.) รับไปดำเนินการสอบสวน  ป.ป.ช.จะทำเมื่อเป็นเรื่องสำคัญ และมีความเสียหายเป็นจำนวนมาก หากตรวจรับเรื่องเบื้องต้นแล้วเข้ากับข้อกฎหมายของ ป.ป.ช. หรือมีมูลพอไต่สวนก็ไต่สวน  


นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ระบุว่าต้องไปดูความชัดเจนเรื่องที่ดินว่าใช้สิทธิอะไร ถ้าใช้สิทธิการครอบครอง ต้องเอาหลักฐานมาพิสูจน์ว่าครอบครองเมื่อไร ถ้าใช้สิทธิ ส.ป.ก. ก็ต้องไปดูกระบวนการได้มาเป็นไปตามกฎหมาย ส.ป.ก.หรือไม่ เรื่องนี้ทราบว่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบแล้ว 

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ สั่งการนายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เร่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบแนวเขตพื้นที่ ส.ป.ก. เพื่อพิสูจน์ทราบว่า น.ส.ปารีณา ครอบครองเป็นจำนวนเท่าไร อีกทั้งให้สอบถามกำนันและผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ถึงการเข้ามาใช้ประโยชน์ที่ดินของครอบครัว น.ส.ปารีณา หากอยู่มาก่อนประกาศเขตปฏิรูปที่ดินถือว่าไม่ได้บุกรุกที่ ส.ป.ก. จากการให้ถ้อยคำของ น.ส.ปารีณา ต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของ ส.ป.ก. ระบุว่าครอบครัว น.ส.ปารีณา เข้ามาอยู่ขณะที่ยังเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและเสียภาษี ภ.บ.ท.5 อย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องตรวจสอบด้วยว่าใช้สิทธิอะไรในการเข้ามาอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ โดยประเด็นที่ต้องตรวจสอบคือ เรื่องคุณสมบัติครอบครองที่ดิน ส.ป.ก. ลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดินว่าเป็นการเกษตรหรือไม่

ส่วนสาเหตุที่เมื่อวานนี้ (13 พ.ย.) ร.อ.ธรรมนัส เร่งสรุปว่า น.ส.ปารีณา อยู่ในพื้นที่นี้มาก่อนประกาศเขต ส.ป.ก. จึงถือว่าไม่ได้บุกรุกและไม่มีความผิดนั้น ไม่ได้เป็นการปกป้อง แต่เป็นเพราะ ร.อ.ธรรมนัส ยังไม่ได้หารือกับสำนักกฎหมาย ส.ป.ก. จึงยังไม่เข้าใจข้อกฎหมายของ ส.ป.ก. ว่าบุคคลที่เข้าครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินจะต้องพิจารณาคุณสมบัติและวัตถุประสงค์การใช้ที่ดินเป็นสำคัญ ไม่ใช่พิจารณาเฉพาะห้วงเวลาที่เข้ามาอยู่อาศัยและใช้ประโยชน์ในที่ดินของ ส.ป.ก.

พ่อ “ปารีณา” ระบุซื้อที่ดินจากชาวบ้าน

สำหรับการตรวจสอบที่ดิน ขณะนี้ปฏิรูปที่ดินจังหวัดราชบุรีและเจ้าหน้าที่สำนักกฎหมายได้ไปตรวจแนวเขตที่ดินดังกล่าวแล้วพบว่า แปลงที่เป็นเขตปฏิรูปที่ดินไม่ได้ติดกัน แปลงแรกติดถนนเป็นที่ ส.ป.ก. ส่วนแปลงกลางเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ น.ส.3 และ ส.ค.1 แต่จะต้องตรวจสอบการได้มาของหนังสือรับรองสิทธิ์ดังกล่าวด้วย ส่วนแปลงท้ายเป็นที่ ส.ป.ก. ซึ่งกำชับให้ดำเนินการอย่างรอบคอบ

ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า จากการพูดคุยกับนายทวี ไกรคุปต์ อดีตรัฐมนตรีและ ส.ส.ราชบุรี หลายสมัย บิดาของ น.ส.ปารีณา ระบุว่า ซื้อที่ดินต่อมาจากชาวบ้านหลายราย บางแปลงเป็นที่ ภ.บ.ท.5 บางแปลงมี น.ส.3 และ ส.ค.1 ซึ่งครอบครัว น.ส.ปารีณาทราบแล้วว่าที่ดินเคยเสียภาษี ภ.บ.ท.5 ปัจจุบันเป็นที่ ส.ป.ก.แล้ว ซึ่ง น.ส.ปารีณา ยินดีให้ตรวจสอบแนวเขต หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีการครอบครองเกิน 500 ไร่ จะใช้มาตรา 44 ยึดคืน แล้วนำมาจัดสรรให้เกษตรกรและผู้ยากไร้ตามโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐ (คทช.)

ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ได้สั่งให้ตรวจสอบที่ดิน ส.ป.ก.ในเขต อ.สวนผึ้ง ซึ่งมีการร้องเรียนว่าครอบครองโดยนายทวี ไกรคุปต์ ก่อนหน้านี้เป็นอย่างไร ไม่ทราบ เพราะตอนนั้นยังไม่ได้เป็น รมช.เกษตรฯ หากพบว่า ส.ส.คนไหนมีที่ ส.ป.ก. ต้องตรวจสอบทุกแปลง รวมทั้งตรวจสอบคุณสมบัติผู้ครอบครองและวัตถุประสงค์การใช้ประโยชน์ที่ดินต้องถูกต้องตาม พ.ร.บ.ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมอย่างเป็นมาตรฐานเดียวกันหมด

นายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าฯ ราชบุรี กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบที่ดินของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี เขต 3 พรรคพลังประชารัฐ ว่าได้มีการเชิญป่าไม้จังหวัด ปฏิรูปที่ดินจังหวัด และนายอำเภอจอมบึง มาซักถามข้อเท็จจริงเบื้องต้นจากที่ปรากฏเป็นข่าว ซึ่งได้ทราบว่าทางต้นสังกัดของหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงคือ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและกรมป่าไม้ ได้มีข้อสั่งการให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ดำเนินการ และทางสำนักงานปฏิรูปที่ดินไปตรวจสอบในบางส่วน เกี่ยวกับเอกสารหลักฐาน ส่วนทางป่าไม้ทราบว่าได้ลงพื้นที่ไปแล้ว ส่วนทางฝ่ายปกครองในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัด และประธานกรรมการการปฏิรูปที่ดินจังหวัด รวมทั้งนายอำเภอจอมบึงในฐานะประธาน กปอ. หรือกรรมการปฏิรูปที่ดินระดับอำเภอก็เป็นเสมือนปลายทางในกระบวนการพิจารณาต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องที่ดินในเรื่องที่เกี่ยวข้อง เช่น อนุมัติ พิจารณา เพิกถอนให้ใช้สิทธิเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ คงต้องรอให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบเพื่อความชัดเจนก่อน 

ส่วนชื่อกรรมสิทธิ์ของที่ดินว่าเป็นของใคร ยังอยู่ระหว่างกำลังตรวจสอบ คือ บริเวณตรงนี้เป็นพื้นที่ดั้งเดิมเป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี บางส่วนเป็นพื้นที่เป็นป่าเสื่อมโทรมหมดสภาพเป็นป่า ทางกรมป่าไม้เองได้กันคืน ได้ส่งมอบให้กับปฏิรูปมีการประกาศปฏิรูปที่ดินทั้งอำเภอจอมบึง เดิมตั้งแต่ปี 2521 ได้มีพระราชกฤษฎีกาให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินทั้งอำเภอ ต่อมาปี 2554 ได้มีแก้ไขเพิ่มเติมปฏิรูปที่ดินฉบับใหม่ แก้ไขการปรับปรุงแบ่งพื้นที่เป็นรายตำบล  เพราะว่าเดิมมีการประกาศคุมเขตปฏิรูปทั้งอำเภอ จะไปทำอย่างอื่นไม่ได้ ดังนั้นปี 2554 สำนักงานการปฏิรูป ส.ป.ก.ใหญ่ จึงตราพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมมา เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่อราษฎรที่พึงจะมีสิทธิกรรมสิทธิ์ในที่ดินต่างๆ จะได้ดำเนินการได้ โดยหลายพื้นที่ของราชบุรี มีทั้ง อ.จอมบึง อ.บ้านคา หลังจากมีการแก้ไขพระราชกฤษฎีกานี้แล้วใครที่มีเอกสาร หลักฐาน มีข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เหมาะสม ก็ไม่ขอออกเอกสารสิทธิมาก็เยอะ แต่ถ้ามีการแก้ไขพระราชกฤษฎีกาแบ่งพื้นที่เป็นบางส่วน ส่วนไหนที่ไม่ได้เข้าเขตปฏิรูป ถ้ามีการเดินสำรวจออกโฉนดของกรมที่ดิน สามารถนำรังวัดได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องมี ส.ค.1 ใบจองอะไรเลย ขอให้พยานบุคคลข้างเคียงชี้แนวเขต ผู้ปกครองท้องที่ยืนยัน ก็จะได้รับเอกสารสิทธิโฉนดที่ดินไปได้เลย ซึ่งมีอยู่ในหลายพื้นที่ที่มีลักษณะแบบนี้ ดังนั้นจึงต้องใช้เวลาในการตรวจสอบพอสมควร คงต้องให้เวลาแก่เจ้าหน้าที่ดำเนินการ โดยคงต้องรอสำนักงาน ส.ป.ก.จังหวัด ตรวจสอบหลักฐานอีกครั้ง  

ส่วน ภ.บ.ท. เป็นหลักฐานเกี่ยวกับการเสียภาษีบำรุงท้องที่ ถ้าใครเข้าไปทำกินใช้ประโยชน์ในที่ดินจะมีหน้าที่ที่จะต้องชำระภาษีบำรุงท้องที่ ทางชาวบ้านจะเรียกภาษีดอกหญ้า  

ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา กระทรวงมหาดไทยได้สั่งยกเลิกการเก็บภาษีบำรุงท้องที่ในที่ดินของรัฐ หรือที่ดินที่ไม่มีหลักฐานเอกสารสิทธิ หลังจากปี 2557 จะไม่มีการออกใบ ภ.บ.ท.5 หรือเก็บภาษีบำรุงท้องที่ในที่ที่ไม่ใช่โฉนด หรือ น.ส.3  น.ส.3 ก แต่ปัจจุบันกฎหมายภาษีโรงเรือน ภาษีบำรุงท้องที่มีการเปลี่ยนแปลงใหม่ เลยเรียกว่ากฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะเริ่มใช้บังคับตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ.2563 ต่อไปหลักการใหม่คือจะเก็บภาษีหมด คือ หากใครทำประโยชน์ในที่ดินทำกินต่างๆ . – สำนักข่าวไทย 

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ถังแก๊สระเบิด

ถังแก๊สระเบิดในโรงงานเหล็ก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง เจ็บหลายราย

ถังแก๊สระเบิดในโรงงานเหล็กแห่งหนึ่ง อ.บ้านค่าย จ.ระยอง เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างควบคุมเพลิงไหม้ เบื้องต้นมีรายงานผู้บาดเจ็บหลายราย และมีผู้ติดค้างอยู่ในโรงงานจำนวนมาก ล่าสุดคุมเพลิงและช่วยผู้ติดค้างภายในออกมาแล้ว

ปูนบำเหน็จ 5 ชั้นยศ “หมู่อาร์ม” ถูกรถขนต่างด้าวชนดับ

สุดสะเทือนใจ นำร่าง “หมู่อาร์ม” ผบ.หมู่ สภ.เมืองกำแพงเพชร ถูกรถกระบะขนแรงงานต่างด้าวแหกด่านพุ่งชนเสียชีวิต กลับมาบำเพ็ญกุศล ขณะที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปูนบำเหน็จ 5 ชั้นยศ

“อัจฉริยะ” ยื่นรื้อคดี “แตงโม” เชื่อโดนฆาตกรรม

“อัจฉริยะ” ยื่นหนังสือถึงอธิบดีอัยการภาค 1 ขอให้รื้อคดีการเสียชีวิตของ “แตงโม ภัทรธิดา” เผยผลชันสูตรไม่ตรงกับข้อมูลที่ตำรวจแถลงข่าว

ข่าวแนะนำ

นายกฯ กล่าวปาฐกถาพิเศษงาน Bangkok Post Forum 2024

นายกฯ กล่าวปาฐกถาพิเศษงาน Bangkok Post Forum 2024 ร่วมกำหนดอนาคตของประเทศไทย “Thailand’s Next Chapter” ย้ำจุดแข็งของไทย ทั้งที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรม พร้อมใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ปูทางสู่ความรุ่งเรืองและมั่งคั่งร่วมกันเพื่ออนาคตประเทศไทย

ตรวจสอบความสัมพันธ์ “โกทร-ส.จ.โต้ง” หลังปรากฏข้อมูลอาจเป็นลูกแท้ๆ

กองปราบฯ เร่งตรวจสอบความสัมพันธ์ “โกทร-สจ.โต้ง” หลังปรากฏข้อมูลว่าอาจเป็นลูกแท้ๆ ของ “โกทร” ที่เกิดจากภรรยาเก่า

นายกฯ ลั่นไม่ต้องคุย “ภท.” โหวตสวน พ.ร.บ.ประชามติ

นายกฯ ลั่นไม่ต้องคุย “ภูมิใจไทย” โหวตสวน พ.ร.บ.ประชามติ เชื่อไร้ปัญหา ยันทำทันรัฐบาลนี้ โยนวิปรัฐบาล เคลียร์พรรคร่วมเสียงแตก