กรมสุขภาพจิต 13 พ.ย.-กรมสุขภาพจิต ห่วงพฤติกรรมความรุนแรงวัยรุ่นไทย ปรากฏผ่านสื่อมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะการยกพวกตีกัน แนะ 4 แนวทางแก้ เริ่มตั้งแต่วัยเด็กที่ครอบครัว ระดับโรงเรียน สังคมและสื่อ ไม่นำเสนอความรุนแรงให้เห็นจนชินชาและเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัญหาพฤติกรรมความรุนแรงของวัยรุ่นในสังคมไทยที่ปรากฎผ่านทางสื่อต่างๆ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งพฤติกรรมความรุนแรงนั้น เกิดจากการทะเลาะวิวาท ชกต่อย ทำร้ายร่างกาย การพกพาอาวุธและโดยเฉพาะพฤติกรรมการทะเลาะวิวาทเป็นกลุ่มหรือที่เรียกว่า “ยกพวกตีกัน” สาเหตุความขัดแย้งและการทะเลาะวิวาทของวัยรุ่นมาจากสาเหตุต่างๆ ดังนี้
1.สาเหตุส่วนบุคคล การศึกษาพบว่า ความรุนแรงส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยวัยรุ่นชาย ได้แก่ การมีพฤติกรรมเกเร ก้าวร้าว ความโกรธบันดาลโทสะ คึกคะนอง ขาดความอดทน ควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้
2.สาเหตุที่เกิดจากครอบครัว เช่น พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ดูแลเอาใจใส่บุตรหลาน ครอบครัวไม่อบอุ่น พ่อแม่แยกทางกัน ครอบครัวเข้มงวดหรือตามใจเกินไป
3.สาเหตุที่เกิดจากเพื่อน เช่น การถูกเพื่อนชักชวนให้กระทำผิด รักเพื่อนรักสถาบัน ต้องการช่วยเพื่อนเพราะคนในกลุ่มเพื่อนเคยถูกทำร้ายมาก่อนและต้องการแก้แค้น
4. สาเหตุที่เกิดจากสภาพแวดล้อม เช่น สถานบันเทิง บนท้องถนน หรือสถานที่จัดงานตามเทศกาลต่างๆ เป็นต้น
และ 5.สาเหตุอื่นๆ ได้แก่ การดื่มสุรา แอลกอฮอล์ หรือการใช้สารเสพติด การพูดจายั่วยุดูถูก การปะทะคารมกัน
“ผลของความรุนแรงส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร การบาดเจ็บและทุพพลภาพ และยังทำให้เสียโอกาสหลายอย่างในชีวิต รวมทั้งอาจก่อ ให้เกิดปัญหาทางจิตและสังคมอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย ผลดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับวัยรุ่นที่ถูกกระทำแต่เกิดขึ้นกับวัยรุ่นที่เป็นผู้กระทำเช่นกัน รวมทั้งครอบครัว ชุมชนและสังคมโดยรวมอีกด้วย” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า กรมสุขภาพจิต ขอแนะนำแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในวัยรุ่นทุกระดับ ดังนี้
1.ระดับบุคคลและครอบครัว การป้องกันจะต้องเริ่มตั้งแต่วัยเด็กนับเป็นช่วงเวลาที่สำคัญ เพราะความรุนแรงเป็นสิ่งที่ค่อยๆสะสมมาตั้งแต่วัยเด็กและมาแสดงออก ในวัยรุ่น การป้องกันที่ดี พ่อแม่ควรเลี้ยงลูกด้วยการให้ความรัก ให้เวลา ดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด ปลูกฝังและวางรากฐานทางคุณธรรมจริยธรรมให้กับเด็ก มีสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว
2.ระดับโรงเรียน การป้องกันโดยการเน้นทักษะด้านการควบคุมอารมณ์ วิธีจัดการกับความโกรธ การแก้ไขปัญหาและจัดการกับความขัดแย้งได้อย่างเหมาะสม สามารถปรับพฤติกรรมและอารมณ์ ช่วยให้วัยรุ่นมีพฤติกรรมเชิงบวก มีสติ การเสริมทักษะชีวิต จัดให้มีกิจกรรมที่เป็นประโยชน์และสร้างสรรค์ให้เด็กวัยรุ่นได้แสดงถึงศักยภาพของตัวเอง
3.ระดับชุมชนและสังคม การส่งเสริมให้ชุมชนเป็นหูเป็นตา เพื่อป้องกันปัญหาความรุนแรง จัดสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัย สร้างชุมชนและสังคมที่เข้มแข็ง ให้ความสำคัญกับวัยรุ่น เปิดโอกาสในการปรับตัว จัดหาสิ่งที่จะเอื้อต่อการพัฒนาเชิงบวก รวมทั้งให้วัยรุ่นได้มีส่วนร่วมในชุมชนด้วย
และ4.สื่อต่างๆ หากสื่อนำเสนอความรุนแรงให้เด็กวัยรุ่นเห็นจนชินชา อาจเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ ทำให้เด็กมีความก้าวร้าวรุนแรงใช้กำลังในการแก้ ปัญหาได้ ดังนั้น สื่อควรมีการนำเสนอเนื้อหาอย่างสร้างสรรค์ สื่อสารเชิงบวก ซึ่งจะเป็นตัวอย่างและต้นแบบที่ดีได้ ในส่วนวัยรุ่นเองก็ต้องมีความรอบรู้ให้เท่าทันสื่อ สามารถวิเคราะห์ไตร่ตรองข้อมูลข่าวสาร ที่ได้รับมาอย่างรอบด้านและตัดสินใจเลือกปฏิบัติในสิ่งที่เหมาะสม
“การป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรง ในทุกภาคส่วนควบคู่ไปกับการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ที่ดีเปรียบเสมือนวัคซีน สร้างภูมิต้านทานเป็นเกราะป้องกันความรุนแรงในวัยรุ่นได้ จะช่วยให้เด็กวัยรุ่นเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีและมีคุณภาพในอนาคต หากพฤติกรรมเด็กวัยรุ่นยังไม่ดีขึ้น แนะนำให้ปรึกษาจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นในสังกัดกรมสุขภาพจิต หรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือสามารถโทรขอรับคำปรึกษาได้ ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง”อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว .-สำนักข่าวไทย