กรุงเทพฯ 11 พ.ย. – “สุริยะ” นำคณะผู้บริหาร ก.อุตสาหกรรม เยี่ยมชมศึกษาดูงานโรงงานรีไซเคิลรถยนต์ กระบวนการ ELV
เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เยี่ยมชมกระบวนการรีไซเคิลรถยนต์อย่างเป็นระบบ ของบริษัท MATEC Inc. ประเทศญี่ปุ่น
สำหรับบริษัท MATEC Inc. ก่อตั้งเมื่อปี 2478 เพื่อการรีไซเคิลรถยนต์ (ELV Total Recycling Challenge) ที่หมดอายุการใช้งาน ELV (End of Life Vehicle) หรือเรียกว่า Scrap car คือ รถที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้งานได้อีก ซึ่งประเทศญี่ปุ่นกำหนดการใช้งานของรถยนต์มีอายุ 13 ปี บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายตั้งแต่เริ่มรีไซเคิล ELV รวมถึงการมีส่วนร่วมในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ ELV ก่อนที่จะมีการกำหนดกฎหมายการรีไซเคิลรถยนต์ บริษัทฯ จึงมีการพัฒนาและดำเนินการด้าน ELV มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การสร้างโรงงานผลิต ELV ที่ใหญ่ที่สุดในพื้นที่ Ishikari ในจังหวัดฮอดไกโด โดยกระบวนการจัดการรีไซเคิล ELV ประกอบด้วย ขั้นตอนที่ 1 การจัดการกับอุปกรณ์ก่อนนำรถไปรื้อถอน เช่น การจำหน่ายยางรถยนต์หรือกันชนที่ใช้แล้ว ขั้นตอนที่ 2 การจัดเก็บของเหลว เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง หรือน้ำยาหล่อเย็น ขั้นตอนที่ 3 การจัดการกับแบตเตอรี เช่น การจำหน่ายในรูปแบบอโลหะหรือวัตถุดิบ ขั้นตอนที่ 4 การรื้อถอนภายใน เช่น เครื่องเสียงรถยนต์ หรือชิ้นส่วนที่ทำมาจากพลาสติกต่าง ๆ และขั้นตอนที่ 5 การรื้อถอนภายนอก เช่น ถังน้ำมัน ตัวเครื่องเร่ง กระจกหน้าต่าง ชิ้นส่วนหลอดไฟฟ้า ซึ่งเป็นระบบรีไซเคิลแบบครบวงจร แต่ละชิ้นส่วนยังสามารถนำไปแปรรูปหรือขายเป็นวัสดุต่าง ๆ นอกจากนี้ บริษัท MATEC Inc. ยังมีโรงงานหลอมทองแดง เงิน และทองคำ อีกด้วย
ก่อนหน้านี้นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ระบุว่า กนอ.ได้ลงนามความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ในการดำเนินโครงการสาธิตการรีไซเคิลซากรถยนต์ (ELV) เพื่อสาธิตเทคโนโลยีกระบวนการรีไซเคิลซากรถยนต์ที่หมดอายุใช้งานในประเทศไทย โดยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม กนอ. และองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (เนโดะ) ว่าจะใช้เทคโนโลยีโดยโตโยต้า ทูโช คอร์ปอเรชั่น (บริษัทลูกค่ายรถยนต์โตโยต้า) ติดตั้งในโรงงานสาธิต บริษัท กรีน เมทัลส์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยความร่วมมือนี้วางเป้าหมายสร้างโมเดลต้นแบบการรีไซเคิลซากรถยนต์ในไทยและภูมิภาคเอเชียในอนาคต ดำเนินระยะเวลา 3 ปี (2562-2564) คาดว่าจะมีการรีไซเคิลประมาณ 50 คันต่อวัน หรือประมาณ 45,000 คนในช่วง 3 ปี
ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวเพื่อบริหารจัดการด้านทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งประเทศไทยถือเป็นผู้นำการผลิตด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ในอาเซียน มีกำลังผลิตรถยนต์ประมาณ 2 ล้านคันต่อปี ขายในประเทศประมาณ 1 ล้านคันต่อปี แต่ยังไม่มีระบบการจัดการซากรถยนต์อย่างเป็นระบบแบบประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันรถยนต์ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี ในไทยบางส่วนถูกรื้อถอนซากชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ด้วยแรงงานคน ซึ่งการรื้อถอนซากรถยนต์เหล่านี้ได้ส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม อาทิ การปนเปื้อนในดินจากน้ำมันและสารเคมีเหลว ปัญหาคุณภาพน้ำ หรือการปล่อยสารฟรีออนจากระบบแอร์รถยนต์ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน และเสี่ยงเกิดอันตรายกับผู้ถอดชิ้นส่วน
ภายในกรอบความร่วมมือกระทรวงอุตสาหกรรมและ กนอ.พร้อมให้คำแนะนำและจะสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ให้กับเนโดะและบริษัทฝ่ายญี่ปุ่น รวมถึงนิติบุคคลท้องถิ่นที่เข้าร่วมโครงการ อาทิ การอำนวยความสะดวกในการเข้าสำรวจสถานที่ การบริหารจัดการโครงการ พร้อมทั้งจะร่วมมือกันในการวางมาตรการออกแบบกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องในการจัดการวัสดุเหลือทิ้งที่ไม่สามารถกำจัดได้ภายในประเทศไทย อาทิ สารเร่งปฏิกิริยา แผงวงจรไฟฟ้า ซึ่งวัสดุเหล่านี้จะถูกนำไปรีไซเคิลและนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง โดยการวางมาตรการดังกล่าวจะอ้างอิงจากกฎหมายรีไซเคิลรถยนต์ของประเทศญี่ปุ่น
นายอภิจิณ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีรถยนต์เก่าประมาณ 5 ล้านคัน และคาดว่า 20 ปีข้างหน้าจะมีรถยนต์เก่าเพิ่มเป็น 16 ล้านคัน ดังนั้น การรีไซเคิลจึงมีความจำเป็น มีเพียงส่วนน้อยที่มีการกำจัดและพบว่าการถอดชิ้นส่วนเองเสี่ยงอันตราย อาทิ ถุงลมนิรภัย(แอร์แบ็ก) หากถอดไม่ถูกวิธีเสี่ยงเป็นระเบิดได้ ซึ่งที่ผ่านมาเกิดระเบิดบ้างแล้ว ขณะที่รถยนต์ส่วนใหญ่ไม่มีการจำกัดเสี่ยงเป็นภาระสำคัญของประเทศ.-สำนักข่าวไทย