กรุงเทพฯ 8 พ.ย. – รมว.เกษตรฯ ปลื้มนวัตกรรมจากยางพารา ผลิตเรือกำจัดวัชพืช ทุ่นดักผักตบชวา รางวัดปริมาณน้ำ และแผ่นยางกันลื่น สนับสนุนการทำงานชลประทานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งยังช่วยเกษตรกรชาวสวนยางพาราอีกด้วย
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สั่งการให้กรมชลประทานจัดทำโครงการผลิตนวัตกรรมจากยางพารา ซึ่งสำนักเครื่องจักรกลและสำนักวิจัยและพัฒนา กรมชลประทานวิจัยและพัฒนาขึ้น ได้แก่ ทุ่นพลาสติก HDPE ปูด้วยแผ่นยางกันลื่น เรือนวัตกรรมกำจัดวัชพืชขนาดเล็ก ทุ่นดักผักตบชวาและรางวัดปริมาณน้ำชลประทาน ซึ่งเห็นว่าเกิดประโยชน์ทั้งด้านส่งเสริมการทำงานชลประทานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นไปตามโครงการส่งเสริมใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐตามนโยบายเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศ ทำให้ราคายางพารามีเสถียรภาพมากขึ้น ลดการพึ่งพาการส่งออกที่ราคาขายมีความผันผวนจากการเก็งกำไรของการซื้อขายในตลาดล่วงหน้าที่จีน สิงค์โปร์ และญี่ปุ่น
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทั้ง 4 อย่างเป็นการสนองนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อส่งเสริมการใช้ยางพาราในหน่วยงานรัฐ โดยทุ่นพลาสติก HDPE ปูด้วยแผ่นยางกันลื่นนั้นเนื้อวัสดุของทุ่นเป็นพลาสติกประเภทพอลิเอทิลีน ที่มีค่าความหนาแน่นสูง ส่วนแผ่นสังเคราะห์ยางปูพื้นประกอบด้วย ยางธรรมชาติ 85% ยางสังเคราะห์ 5% และอื่น ๆ 10% ใช้เป็นโป๊ะลอยน้ำจากทุ่น HDPE สำหรับเทียบเรือเพื่อใช้สัญจรในการปฏิบัติงานในอ่างเก็บน้ำ คลองชลประทาน หรือเขื่อนต่าง ๆ ส่วนเรือกำจัดวัชพืชขนาดเล็กมีคุณลักษณะเฉพาะและรูปแบบของเรือกำจัดวัชพืชขนาดเล็ก โครงสร้างและเปลือกเรือ ทำจากวัสดุอลูมิเนียมขึ้นรูปและเชื่อมประกอบ ขนาดความกว้าง 1.70 เมตร ความยาว 4.80 เมตร และความสูง 0.50 เมตร บุ้งกี๋สำหรับตักเก็บวัชพืช เป็นแบบตะแกรง ทำจากอลูมิเนียมผสม ขนาดความกว้าง 105 เซนติเมตร ความยาว 200 เซนติเมตร และความสูง 55 เซนติเมตร ล้อระหัด สำหรับขับเคลื่อนเรือให้เดินหน้า ถอยหลัง แบบเป็นอิสระต่อกัน เครื่องยนต์ต้นกำลังใช้เครื่องยนต์เบนซิน ขนาด 13 แรงม้า สตาร์ทด้วยมอเตอร์ และเชือกสตาร์ท ความเร็วในการเดินเรือทั้งเดินหน้าและถอยหลังในน้ำ ประมาณ 20 กิโลเมตร/ชั่วโมง อัตราความสิ้นเปลืองนำมันเชื้อเพลิง (เบนชิน) ประมาณ 2 ลิตร/ชั่วโมง หรือประมาณ 60 บาท ต่อชั่วโมง ใช้พนักงานควบคุมบนเรือ 1 คน ความสามารถในการเก็บผักตบชวา ประมาณ 60 ตัน/วัน
สำหรับทุ่นยางพาราดักผักตบชวาเป็นผลงานศึกษา วิจัยและพัฒนาเพื่อนำไปใช้วางกั้นคลองชลประทานดักผักตบชวา โดยออกแบบให้ใช้เนื้อยางธรรมชาติ 30 กิโลกรัมต่อทุ่น ยาว 2 เมตร สามารถลอยตัวอยู่ที่ร้อยละ 50 ของเส้นผ่านศูนย์กลาง แผนการดำเนินงานปี 2562 ติดตั้งในเขต ลุ่มน้ำเจ้าพระยา (พื้นที่สำนักงานชลประทานที่ 10 11และ12) และมีเป้าหมายขยายผลจัดทำทุ่นและติดตั้งทั่วประเทศ ในโครงการชลประทาน 200 โครงการ ๆ ละ 100 จุด เป็น 340,000 ทุ่น หรือคิดเป็นน้ำหนักยางพาราทั้งสิ้น 10,200 ตัน และอีกหนึ่งนวัตกรรม คือ รางวัดปริมาณน้ำชลประทานจากยางพาราใช้วัดปริมาณน้ำของการเกษตรกรรมในเขตจัดรูปที่ดิน โดยอุปกรณ์มีขนาดความกว้างราง 0.20 เมตร ยาว 0.90 เมตร สูง 0.25 เมตร และมีแผนการผลิตจำนวน 1,000 ชุด คิดเป็นปริมาณยางที่ใช้ 10 ตัน
“นวัตกรรมทั้ง 4 ชนิดเป็นผลงานการคิดค้นและพัฒนาจากกรมชลประทาน เพื่อให้การดำเนินงานของกรมชลประทานด้านต่าง ๆ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาตามนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ” นายทองเปลว กล่าว.-สำนักข่าวไทย