กรุงเทพฯ 5 พ.ย. – รมว.เกษตรฯ ย้ำกรมวิชาการเกษตรประสานกรมการข้าว หาแนวทางควบคุมการระบาดโรคไหม้คอรวงข้าวทุ่งกุลาร้องไห้ หวั่นผลผลิตข้าวหอมมะลิเสียหาย อธิบดีกรมการข้าวระบุพื้นที่ระบาดขยายวงกว้างขึ้น เร่งพิจารณาใช้สารป้องกันกำจัดเชื้อราที่จำเป็นและปลอดภัย
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงปัญหาการระบาดของโรคไหม้คอรวงข้าวที่กำลังระบาดหลายจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ว่า ได้สั่งการกรมวิชาการเกษตรประสานกรมการข้าวและกรมส่งเสริมการเกษตรหาแนวทางควบคุมการระบาด ขณะนี้พบการระบาดในแปลงข้าวหอมมะลิพันธุ์ กข15 ที่อยู่ช่วงเก็บเกี่ยว จากรายงานเบื้องต้นบางแปลงผลผลิตข้าวเสียหายทั้งแปลง ส่วนแปลงที่ต้นข้าวติดเชื้อราบางส่วนยังเก็บเกี่ยวได้ แต่ผลผลิตลดลง ขณะนี้กำชับให้ป้องกันการระบาดสู่แปลงข้าวหอมพันธุ์ดอกมะลิ 105 ซึ่งกำลังจะเก็บเกี่ยวปลายเดือนพฤศจิกายน เพื่อไม่ให้เกษตรกรเดือดร้อนเนื่องจากปีนี้ข้าวหอมมะลิราคาดีมาก ทั้งนี้ คาดว่าผลผลิตข้าวหอมมะลิปีนี้มีปริมาณลดลงแน่นอน เพราะก่อนหน้านี้ประสบภาวะฝนทิ้งช่วงตามด้วยอุทกภัยจนกระทั่งเกิดโรคระบาดอีก
นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า ขณะนี้โรคระบาดเข้าสู่ทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิสำคัญ ก่อนหน้านี้กรมการข้าวเสนอให้ใช้ไตรโคเดอร์มาซึ่งเป็นเชื้อราสำหรับกำจัดโรคจากเชื้อรา แต่พื้นที่ระบาดขยายวงกว้างขึ้น จึงสั่งกรมวิชาการเกษตรเข้าไปร่วมหาแนวทางควบคุมโรค หากจำเป็นต้องใช้สารป้องกันกำจัดเชื้อราให้รีบดำเนินการก่อนจะเกิดความเสียหายมากไปกว่านี้
“ฤดูการผลิตนาปีจะสิ้นสุดเดือนพฤศจิกายน จึงเร่งรัดให้สำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นให้ชัดเจน เพื่อจะได้กำหนดมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร กรณีเสียหายโดยสิ้นเชิงและผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ เกษตรกรจะได้รับค่าชดเชยตามระเบียบกระทรวงการคลัง นอกจากนี้ ยังมีมาตรการลดภาระต้นทุนการผลิต โดยแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวสำหรับฤดูกาลผลิตต่อไป หากผลผลิตข้าวหอมมะลิลดลงจนส่งผลให้ราคาสูงขึ้นและกระทบต่อผู้บริโภค กระทรวงเกษตรฯ จะประสานกระทรวงพาณิชย์ร่วมกันแก้ปัญหา อย่างกรณีข้าวเหนียวราคาแพงได้จัดโครงการธงฟ้าขายข้าวเหนียวบรรจุถุงราคาถูกกว่าท้องตลาดให้ประชาชนซื้อไปบริโภค” นายเฉลิมชัย กล่าว
นายสุดสาคร ภัทรกุลนิษฐ์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า พื้นที่การระบาดของโรคไหม้คอรวงข้าวขยายวงกว้างขึ้น จากเดิมพบแปลงที่เกิดโรคจังหวัดสุรินทร์และศรีสะเกษรวม 364,960 ไร่ ขณะนี้จังหวัดสุรินทร์ระบาด 295,740 ไร่ ศรีสะเกษ 113,715 ไร่ ลุกลามไปทุ่งกุลาร้องไห้ ได้แก่ จังหวัดร้อยเอ็ด อำเภอสุวรรณภูมิ 20,050 ไร่ จังหวัดมหาสารคามที่อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย 5,018 ไร่ นอกจากนี้ ยังระบาด 7 อำเภอของจังหวัดอุบลราชธานี 181 ไร่ ทั้งนี้ กรมการข้าวแจกจ่ายสารไตรโคเดอร์มาให้เกษตรกรฉีดป้องกันแปลงข้าวหอมพันธุ์ดอกมะลิ 105 ซึ่งอยู่ในพื้นที่ติดต่อกับแปลงที่เกิดโรคระบาด โดยสุรินทร์แจกจ่ายแล้ว 29,061 กิโลกรัม ศรีสะเกษ 8,000 กิโลกรัม ร้อยเอ็ด 2,000 กิโลกรัม และมหาสารคาม 1,625 กิโลกรัม
นายสุดสาคร กล่าวต่อว่า กำลังสำรวจความเสียหายและประเมินสถานการณ์การระบาดของโรคร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ว่าราชการจังหวัดตามข้อสั่งการของ รมว. เกษตรฯ โดยหารือว่าหากการระบาดรุนแรงขึ้นอาจต้องใช้สารป้องกันกำจัดเชื้อรา เพื่อควบคุมโรคไม่ให้แพร่กระจาย ซึ่งจะแนะนำให้เกษตรกรใช้ตามความจำเป็นและใช้อย่างถูกต้องปลอดภัย.-สำนักข่าวไทย