กรุงเทพฯ 1 พ.ย. – รฟท.เปิดตัวขบวนรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงล็อตแรก ยังยืนยันเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ต้นปี 2564
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีต้อนรับรถไฟฟ้าชุดแรก โครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ – รังสิต และช่วงบางซื่อ – ตลิ่งชัน โดยมี นายชิโร ซะโดะชิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย และนางคัทซึระ มิยาซากิ ผู้อำนวยการ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย และคณะผู้บริหารกิจการค้าร่วมเอ็มเอชเอสซี (MHSC) และผู้บริหารกระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมงาน
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมมุ่งเน้นการลงทุนพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการลงทุนพัฒนาระบบขนส่งทางรางให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ก่อให้เกิดการพัฒนาระบบรางที่มีศักยภาพ การต้อนรับขบวนรถรถไฟฟ้าชุดแรกโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ – รังสิต และช่วงบางซื่อ – ตลิ่งชัน วันนี้ จึงถือเป็นการต่อยอดการพัฒนาระบบรางของประเทศที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย โดยต้องมีการขยายบริบทจากเพียงการมุ่งจัดหาขนส่งระบบรางมาใช้เพื่อการแก้ไขปัญหาจราจรภายในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ และปริมณฑล หรือการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าระหว่างเมืองไปสู่การใช้ระบบรางให้เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือที่เราสามารถใช้เป็นกลไกในการพัฒนาประเทศ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ตลอดจนการพัฒนาบุคลากร เพื่อสนองนโยบายการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และลดต้นทุนค่าขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งจะส่งผลให้ระบบขนส่งทางรางของไทยมีความเจริญก้าวหน้าและพัฒนาอย่างยั่งยืนได้
สำหรับโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ – รังสิต และสถานีกลางบางซื่อ มีขอบเขตการดำเนินงานและความก้าวหน้าของงานก่อสร้างทั้งหมดวันที่ 31 ตุลาคม 2562 ได้แก่ สัญญาที่ 1 งานโยธาสำหรับสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง มีความก้าวหน้าร้อยละ 91.11 สัญญาที่ 2 งานโยธาสำหรับทางรถไฟ ช่วงบางซื่อ-รังสิต ดำเนินการแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย และสัญญาที่ 3 งานระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล รวมจัดหาตู้รถไฟฟ้า สำหรับช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน มีความก้าวหน้าร้อยละ 62.40 โดยขบวนรถไฟที่นำเข้ามานี้อยู่ในสัญญาที่ 3 เป็นของกลุ่มกิจการร่วมค้า MHSC ร่วมกับ ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น บริษัท มิตซูบิชิ เฮฟวี่ อินดัสตรี่ส์ จำกัด และ บริษัท ฮิตาชิ จำกัด ประกอบด้วย ขบวนรถไฟ 2 รูปแบบ คือ รถไฟฟ้าชนิด 6 ตู้ต่อขบวน รองรับผู้โดยสาร ได้สูงสุด 1,710 คนต่อเที่ยว และรถไฟฟ้าชนิด 4 ตู้ต่อขบวน รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 1,120 คนต่อเที่ยว มีความเร็วสูงสุดในการออกแบบที่ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง วัสดุขบวนรถเป็น Aluminum Double Skin ด้านการออกแบบรถไฟฟ้าสำหรับโครงการรถไฟสายสีแดงนั้นมีการคำนึงถึงสภาพอากาศของประเทศไทย ดังนั้น ภายในขบวนรถจึงมีเครื่องปรับอากาศตู้ละ 2 เครื่อง และใช้กระจกสีสำหรับทำหน้าต่างรถไฟ เพื่อลดปริมาณแสงแดดที่จะส่องผ่านเข้ามาภายในตู้รถ นับเป็นหนึ่งในแนวคิดการออกแบบที่ช่วยลดความร้อนภายในตู้ ยิ่งไปกว่านั้น ยังออกแบบให้ตู้รถแต่ละข้างมีสามประตูและเพิ่มจำนวนที่นั่ง เพื่อให้ผู้โดยสารนั่งได้สบายขึ้น รวมทั้งมีหน้าต่างขนาดใหญ่ให้ผู้โดยสารมองเห็นทัศนียภาพภายนอกจากมุมสูงได้มากขึ้น
นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ รฟท. เปิดเผยว่า รฟท.ได้รับมอบรถไฟฟ้า 10 ตู้ ซึ่งเป็นขบวนรถโดยสารชุดแรกจากทั้งหมด 25 ขบวน โดยในส่วนของขบวนรถไฟฟ้าที่เหลือจะทยอยเดินทางมาจนครบทั้งหมดภายในกลางปี 2563 หลังจากนั้นจะดำเนินการทดสอบขบวนรถให้เสร็จ เพื่อให้พร้อมที่จะดำเนินการทดสอบ System Integration Testing และทดสอบการวิ่งให้บริการเสมือนจริง (Trial Running) ให้เสร็จสมบูรณ์ก่อนที่จะเปิดเดินรถเชิงพาณิชย์ภายในต้นปี 2564 สามารถเชื่อมโยงกับแผนกลยุทธ์ในการขนส่งอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม พัฒนาบริการขนส่งโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานสากล เมื่อโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ – รังสิต เปิดให้บริการจะสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารจากรังสิตสู่บางซื่อไม่น้อยกว่า 306,608 คน/วัน ในปีที่เปิดดำเนินการ และช่วยเชื่อมต่อการเดินทางกับโครงข่ายคมนาคมรูปแบบอื่น ๆ ของประเทศให้มีความสะดวก รวดเร็วและคล่องตัว ถือเป็นการเปิดมิติใหม่ของการคมนาคมทางราง ที่สำคัญยังเป็นส่วนสำคัญที่จะยกระดับระบบรางของไทยให้ก้าวสู่การเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียนในอนาคตด้วย และยืนยันเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ต้นปี 2564.-สำนักข่าวไทย