ธปท. 31 ต.ค. – ธปท.คาดจีดีพีไตรมาส 3/62 มีแนวโน้มโตต่ำกว่าร้อยละ 2.9 หลังการส่งออกในช่วง 9 เดือน หดตัวร้อยละ 2.7 หวังมาตรการภาครัฐกระตุ้นเศรษฐกิจไตรมาสสุดท้าย
นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยเดือนกันยายน 2562 ยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัว เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าชะลอตัวจนมีผลกดดันต่อภาคการส่งออก ทำให้การส่งออกเดือนนี้ติดลบร้อยละ 1.5 หรือมีมูลค่าการส่งออกที่ 20,397 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และทำให้ไตรมาส 3/2562 การส่งออกไม่เติบโตหรืออยู่ที่ร้อยละ 0 และมีมูลค่าการส่งออก 63,295 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ไม่ใช่ผลจากการตัดสิทธิ GSP เนื่องจากรายการสินค้าที่ถูกตัดสิทธิมีไม่มาก ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ส่วนกรณีที่สหรัฐอเมริกาตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) สินค้าไทยนั้น นายดอน กล่าวว่า ไม่ได้มีผลต่อการส่งออกในภาพรวมมากนัก โดยมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐอยู่ที่ 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.5 ของมูลค่าส่งออกโดยรวม จากการวิเคราะห์ของกระทรวงพาณิชย์ พบว่าหากมีการขึ้นภาษีโดยเฉลี่ยร้อยละ 5 จะกระทบการส่งออกไทยปีนี้ลดลงร้อยละ 0.01 เท่านั้น ขณะเดียวกันการที่สหรัฐอเมริกาตัดสิทธิ GSP ทำให้คาดว่าแนวโน้มการส่งออกไตรมาส 4/2562 มีโอกาสที่จะเร่งตัวขึ้น
นายดอน กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/2562 มีแนวโน้มจะขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ร้อยละ 2.9 เนื่องจากการส่งออกและการบริโภคภาคเอกชนไม่ได้ขยายตัวต่ำกว่าที่คาด โดยแนวโน้มการส่งออกช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 หดตัวร้อยละ 2.7 อย่างไรก็ตาม หากจะให้การส่งออกทั้งปีหดตัวเพียงร้อยละ 1 ตามที่ ธปท.คาดหมายการส่งออกไตรมาส 4 จะต้องขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 ส่วนจะมีผลให้เศรษฐกิจทั้งปีเป็นไปตามเป้าร้อยละ 2.8% หรือไม่ จะต้องขอดูภาพรวมเศรษฐกิจไตรมาส 4 อีกครั้ง ซึ่งคาดหวังว่าไตรมาส 4 เศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นจากมาตรการภาครัฐ ทั้งบัตรสวัสดิการและมาตรการชิมช้อปใช้ รวมทั้งการท่องเที่ยวที่ดีขึ้น
นายดอน กล่าวถึงกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงว่า เป็นตามไปตามคาดการณ์ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.).- สำนักข่าวไทย