กรุงเทพฯ 29 ต.ค. – นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยเตือนรัฐบาลใช้ข้อมูลทุกด้าน หาทางออกหลังยกเลิกใช้สารเคมีการเกษตร 3 ชนิด ย้ำเหลือเวลา 1 เดือนจะไม่สามารถนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศที่ยังคงใช้สารเคมี โดยเฉพาะถั่วเหลืองและข้าวสาลี ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องจำนวนมาก เศรษฐกิจของไทยต้องเสียหายร้ายแรง
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า ภาคธุรกิจกำลังติดตามแนวทางดำเนินการของรัฐบาล หลังจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติยกเลิกใช้สารเคมี 3 ชนิด คือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ซึ่งจะมีผลวันที่ 1 ธันวาคมนี้ ที่ผ่านมาทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรม ตัดสินใจโดยไม่มองผลกระทบให้ครอบคลุมทั้งหมด รับฟังข้อมูลด้านเดียวจาก NGO เป็นการผลักดันนโยบายรัฐแบบลำเอียงและมีทิฐิ แม้ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ จะระบุว่ากำลังหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกร โดยการหาสารและวิธีการทดแทน แต่ประเด็นที่ภาครัฐไม่ได้กล่าวถึงคือ เมื่อห้ามใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด ไทยจะไม่สามารถนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศที่ยังคงใช้สารเหล่านี้ได้
นายพรศิลป์ กล่าวถึงหนังสือจากสถานทูตสหรัฐที่ระบุว่าการยกเลิกใช้สารไกลโฟเซต ซึ่งเป็นสารป้องกันกำจัดวัชพืช โดยไม่พิจารณาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อย่างเต็มที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อการนำเข้าถั่วเหลืองและข้าวสาลีของไทย อีกทั้งหน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐ (EPA) ประเมินแล้วว่าไม่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์ ซึ่งสอดคล้องกับความคิดเห็นของหน่วยงานทางวิทยาศาสตร์หลายประเทศ หากมองผิวเผินอาจเห็นว่าสหรัฐกังวลจะขายสินค้าให้ไทยไม่ได้ แต่เมื่อพิจารณาให้ลึกซึ้งไทยจะเดือดร้อนอย่างมากกรณีนำเข้าถั่วเหลืองและข้าวสาลีไม่ได้ เนื่องจากเป็นวัตถุดิบหลักในอุตสาหกรรมหลายประเภท โดยข้าวสาลีนำเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหารคนและอาหารสัตว์ เช่นเดียวกับถั่วเหลือง ปัจจุบันไทยผลิตถั่วเหลืองได้ปีละ 80,000 ตัน และนำเข้าจากทั่วโลกรวม 2.5 ล้านตัน เพื่อนำมาผลิตน้ำมันถั่วเหลือง ใช้ประกอบอาหาร ส่วนกากถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ทุกประเทศที่ปลูกใช้ไกลไฟเซต ถ้าไทยนำเข้าไม่ได้จะไม่เพียงพอต่อการบริโภคและอุตสาหกรรมต่อเนื่องจะล่มสลายหมด เมื่อไม่มีวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ เกษตรกรที่เลี้ยงปศุสัตว์จะนำอาหารจากที่ไหนให้สัตว์กิน และถ้าไม่มีอาหารเลี้ยงสัตว์ คนไทยจะนำเนื้อสัตว์จากไหนมาบริโภค
นายพรศิลป์ กล่าวต่อว่า ที่แสดงความเห็นกันว่าสหรัฐแทรกแซงการค้าของไทยไม่จำเป็นต้องสนใจ โดยให้หันไปจับมือกับจีน ขอให้มองอีกด้านหนึ่ง คือ ไทยนำเข้าผักผลไม้จากจีน ซึ่งยังคงใช้พาราควอตต้องห้ามนำเข้าด้วย ที่สำคัญสารเคมีที่ยกเลิกไปนั้นร้อยละ 90 ผลิตที่จีน มูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ดังนั้น ไทยจะมีปัญหาการค้าระหว่างประเทศทั้งกับสหรัฐและจีนพร้อมกันแน่นอน
“ทางออกควรทำก่อนหน้านี้ คือ การควบคุมและจำกัดการใช้สารเคมีทางการเกษตรตามมาตรฐานสากลที่รับรองว่า ปลอดภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้ภาคการเกษตรอยู่รอด ภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่องเดินหน้าไปได้ แต่การติดสินใจที่ผ่านมาเสมือนไทยกำลังยิงปืนใส่ขาตัวเองที่จะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นลูกโซ่” นายพรศิลป์ กล่าว
นายพรศิลป์ กล่าวเพิ่มเติมถึงการที่มีการโยงว่า สหรัฐตัด GSP สินค้าไทย เนื่องจากการยกเลิกสารเคมี 3 ชนิดนั้น มองว่าไม่เกี่ยวข้องกัน ส่วนการที่ภาครัฐระบุว่าผลจากการตัด GSP ส่งผลกระทบน้อยนั้น ขอให้มองอย่างลึกซึ้งว่าสินค้าที่ถูกตัด GSP เมื่อส่งออกไปสหรัฐมีราคาสูงขึ้น เนื่องจากต้องเพิ่มต้นทุนทางภาษี จะส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันด้านการตลาดของสินค้าชนิดนั้น ๆ ลดต่ำลง ผู้ซื้อจะเลือกนำเข้าจากประเทศอื่นที่ยังคงได้สิทธิพิเศษทางภาษีและมีราคาถูกกว่า ยอมรับว่าภาคธุรกิจเป็นกังวลเกี่ยวกับปัญหานี้อย่างมากเนื่องจากภาวะการส่งออกของไทยหดตัว ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นทำให้ปริมาณการส่งออกสินค้าลดลงอยู่แล้ว ดังนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจเตรียมนำเสนอปัญหาและข้อเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรีในเรื่องนี้ โดยหวังว่าระยะเวลา 6 เดือนก่อนที่สหรัฐจะตัด GSP ไทย รัฐบาลจะหาแนวทางเจรจา เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศน้อยที่สุด.-สำนักข่าวไทย