กรุงเทพฯ 25 ต.ค. – เกษตรฯ เร่งช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการแบน 3 สาร
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิดแล้ว เพื่อให้เกษตรกรมีทางเลือกในการปรับเปลี่ยน จากเดิมเคยใช้พาราควอตและไกลโฟเซตเป็นสารป้องกันกำจัดวัชพืช ส่วนคลอร์ไพริฟอสใช้เป็นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช
ทั้งนี้ คณะทำงานจะต้องสำรวจจำนวนเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ สอบถามถึงสิ่งที่ต้องการให้รัฐเข้าไปช่วยเหลือ ตลอดจนหาสารทางเลือกที่เป็นทั้งสารเคมีอื่น สารชีวภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพ การสนับสนุนเรื่องแรงงานและเครื่องจักรกลการเกษตรในการกำจัดวัชพืชและศัตรูพืช หากต้นทุนการผลิตของเกษตรกรสูงขึ้น รัฐจะกำหนดมาตรการเยียวยาในอัตราที่เหมาะสม โดยจะเสนอให้ ครม. เห็นชอบ
สำหรับการกำจัดสารเคมี 3 ชนิด คือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอไพริฟอส ซึ่งคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติให้ปรับเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามผลิต นำเข้า จำหน่าย และครอบครอง เมื่อกรมวิชาการเกษตรสำรวจปริมาณคงเหลือชัดเจนแล้ว เมื่อประกาศยกเลิกใช้ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตรายมีผลบังคับใช้ กรมวิชาการเกษตรต้องอายัดทั้งหมด เพื่อทำลายต่อไป การทำลายวัตถุอันตราย 3 ชนิด เบื้องต้นพบว่า มีปริมาณคงค้างรวม 29,869.58 ตัน จะต้องหาวิธีทำลายปลอดภัยตามมาตรฐานสากล เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยจะมีการทำลายสารเคมีวัตถุอันตรายจำนวนมากเช่นนี้ ซึ่งกรมวิชาการเกษตรคาดว่ากว่าจะทำลายได้หมดจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เห็นหนังสือที่สถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทยส่งมาเเล้วเเละส่งต่อให้ทางกรมการค้าต่างประเทศในฐานะหนึ่งในคณะกรรมการวัตถุอันตรายแล้ว โดยในหนังสือดังกล่าวสหรัฐเพียงแค่แสดงความห่วงใยว่าหากสารตัวใหม่ที่มาจะใช้ในการทำเกษตรมีราคาเเพงกว่า 3 สาร คือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอไพรริฟอส ที่คณะกรรมการประกาศยกเลิกใช้ในไทย นอกจากนี้ ยังเป็นห่วงว่าสินค้าบางตัวที่ไทยนำเข้าจากสหรัฐ เช่น แป้งสาลี องุ่น หากยังใช้สารเหล่านั้นอยู่ จะสามารถนำเข้ามายังประเทศไทยได้ต่อไปหรือไม่ ซึ่งได้ให้กรมการค้าต่างประเทศพิจารณาในฐานะ 1 ในคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่แล้ว และขณะนี้กระทรวงพาณิชย์จะยังไม่มีการส่งหนังสือใด ๆ ตอบกลับไปยังสหรัฐแต่อย่างใด.-สำนักข่าวไทย