ธ.ก.ส.เร่งช่วยเกษตรกรที่ประสบภัยน้ำท่วม

กรุงเทพฯ 28 ธ.ค. – ธ.ก.ส.จัดมาตรการแบ่งเบาภาระหนี้สิน ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


ธ.ก.ส.เร่งช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มอบหมายให้สาขามอบถุงยังชีพช่วยเหลือพร้อมการสนับสนุนสิ่งของจำเป็น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น พร้อมจัดมาตรการดูแลด้านภาระหนี้สิน ได้แก่ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน และสินเชื่อเสริมสภาพคล่อง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินในการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยและเครื่องมือทางการเกษตรที่ได้รับความเสียหาย ปลอดดอกเบี้ย 6 เดือนแรก รวมถึงการฟื้นฟูอาชีพสร้างรายได้และการพัฒนาคุณภาพชีวิต วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า จากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนดังกล่าว เบื้องต้น ธ.ก.ส. ได้มอบหมายให้พนักงาน ธ.ก.ส. ในพื้นที่ ออกเยี่ยมเยือนให้กำลังใจลูกค้า พร้อมมอบถุงยังชีพและสิ่งของที่จำเป็น เพื่อนำไปช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้าและประชาชนที่เดือดร้อน การสนับสนุนศูนย์อพยพหรือจุดรวมพลต่าง ๆ โดยการจัดหาอาหาร น้ำดื่ม บริการสุขาเคลื่อนที่ เต็นท์สนาม เป็นต้น


นอกจากนี้ ธ.ก.ส.ได้จัดมาตรการในการลดภาระหนี้เดิม สำหรับลูกค้าที่มีสถานะหนี้ปกติผ่านมาตรการ 1) การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ฟื้นฟูอาชีพ โดยธนาคารจะพิจารณาขยายระยะเวลาการชำระหนี้พร้อมกำหนดชำระหนี้ใหม่ตามศักยภาพที่แท้จริง แต่ไม่เกิน 20 ปี 2) มาตรการจ่ายดอก ตัดต้น เมื่อลูกค้าส่งชำระหนี้ ธนาคารจะแบ่งภาระการตัดชำระหนี้ตามสัดส่วนต้นเงินและดอกเบี้ยในสัดส่วน 50 : 50 ของจำนวนเงินที่ลูกค้าส่งชำระ โดยลูกค้าต้องชำระเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของจำนวนดอกเบี้ยเงินกู้ทั้งหมด 3) มาตรการจ่ายต้น ปรับงวด โดยธนาคารจะปรับตารางชำระหนี้ใหม่ให้กับลูกค้าให้สอดคล้องกับรายได้และศักยภาพในการชำระหนี้ของลูกค้า เมื่อลูกค้าชำระต้นเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ 1 ของจำนวนหนี้ทั้งสัญญา และสำหรับลูกค้า NPLs ธนาคารจะพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกค้าตามศักยภาพในการชำระหนี้ โดยเงื่อนไขเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด

นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ได้จัดทำมาตรการเสริมสภาพคล่องและฟื้นฟูลูกค้า เพื่อนำไปใช้ในการสร้างหรือซ่อมแซมที่อยู่อาศัย โรงเรือนการเกษตร เครื่องมือ เครื่องจักรกลการเกษตร รวมถึงการฟื้นฟูการผลิตที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติ และลดปัญหาการก่อหนี้นอกระบบ วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 1) สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและเสริมสภาพคล่องเกษตรกรในช่วงประสบภัย เช่น ค่าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็น ปลอดดอกเบี้ย 6 เดือนแรก และเดือนที่ 7 เป็นต้นไป อัตราดอกเบี้ย MRR (ปัจจุบัน MRR เท่ากับร้อยละ 6.975) วงเงินรายละไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลาชำระภายใน 3 ปี และ 2) สินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อเป็นค่าซ่อมแซมบ้านเรือนและทรัพย์สิน ค่าซ่อมเครื่องมือและอุปกรณ์การเกษตรที่ได้รับความเสียหาย ค่าใช้จ่ายในการทำการเกษตรรอบใหม่ วงเงินรายละ ไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR-2 ระยะเวลาชำระคืนไม่เกิน 15 ปี

นายฉัตรชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ ภายหลังจากสถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายลง ธ.ก.ส. จะเร่งสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อพิจารณาการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูลูกค้าผู้ได้รับผลกระทบ เช่น การมอบเงินสมทบทุนการซ่อมแซมหรือสร้างบ้านหลังใหม่ การซ่อมแซมเครื่องจักรการเกษตร และค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดที่เกี่ยวเนื่อง ขอให้เกษตรกรอย่ากังวลใจ ธ.ก.ส. พร้อมเข้าไปดูแลและช่วยเหลืออย่างเต็มที่ และสามารถเดินเข้ามาปรึกษา ธ.ก.ส. ได้ทุกสาขาหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 02 555 0555 ตลอด 24 ชั่วโมง.-515- สำนักข่าวไทย


ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

สามีเข้าเกียร์ค้างไว้ สตาร์ทรถพุ่งชนภรรยาดับ

สลด! สามีขับรถใส่เกียร์ค้างไว้ สตาร์ทรถพุ่งชนภรรยาเสียชีวิตในบ้านพักย่านวิภาวดี ตำรวจยังไม่ปักใจเชื่อคำให้การเบื้องต้น นำตัวสอบปากคำอย่างละเอียดอีกครั้ง

คุมฝากขัง “เอ็ม เอกชาติ” เจ้าตัวปิดปากเงียบ

ตร.ไซเบอร์คุมตัว “เอ็ม เอกชาติ” ฝากขัง เจ้าตัวปิดปากเงียบ ไม่ตอบคำถามสื่อ ด้านตำรวจพบเส้นทางการเงินจากเว็บพนัน กว่า 30 ล้านบาท

ข่าวแนะนำ

ครบ 72 ชม. ตึก สตง.ถล่ม ไม่หยุดค้นหาผู้รอดชีวิต

ปฏิบัติการค้นหาผู้รอดชีวิตจากเหตุตึก สตง.พังถล่ม แม้เวลาผ่านมาครบ 72 ชั่วโมงแล้ว แต่เจ้าหน้าที่้ทุกฝ่ายยังไม่ละความพยายามในการค้นหาผู้รอดชีวิต หวังมีปาฏิหาริย์

นายกฯ สั่งลดขั้นตอนแจ้งเตือนภัย ลั่นยังไม่ได้ SMS แผ่นดินไหว

นายกฯ ลั่น จนถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้รับ SMS เตือนแผ่นดินไหว สั่งลดขั้นตอนแจ้งเตือน “กรมอุตุฯ ไป ปภ. เข้าเครือข่ายมือถือ” ไม่ต้องผ่าน กสทช. ระหว่าง รอ Cell Broadcast เต็มระบบ ก.ค.นี้

ปภ.ยันไม่มีความรู้สึกสั่นไหว ไม่ใช่ผลจากอาฟเตอร์ช็อก

ปภ.แถลงชี้แจงกรณีสถานการณ์อพยพออกจากอาคาร ยืนยันไม่มีความรู้สึกสั่นไหว ไม่ได้เป็นผลกระทบจากอาฟเตอร์ช็อก ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก