กรุงทพฯ 25 ตงค. – รมว.เกษตรฯ สั่ง กยท.เร่งควบคุมการระบาดโรคใบร่วงในยางพารา ล่าสุดขยายวงจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ไปจังหวัดตรัง กยท.ระบุเร่งหาวิธีการป้องกันกำจัดโรคด้วยสารฆ่าเชื้อรา แต่เป็นโรคเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังมีรายงานถึงแนวทางการกำจัดโรคที่ได้ผลดีที่สุด
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากการระบาดของโรคใบร่วงในยางพาราบริเวณ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส ยะลา และปัตตานี พื้นที่ประมาณ 100,000 ไร่ ล่าสุดการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) รายงานว่าพบสวนยางพาราอำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรังเกิดโรคนี้แล้ว จึงคาดว่าพื้นที่ระบาดอาจไม่ต่ำกว่า 150,000 ไร่ สถาบันวิจัยยางของ กยท.นำตัวอย่างใบยางที่มีรอยโรคมาตรวจในห้องปฏิบัติการ ซึ่งผลยืนยันว่าเกิดจากเชื้อรา Pestalotiopsis sp. ที่เป็นเชื้อทำให้เกิดอาการใบร่วงอย่างรุนแรง
นอกจากนี้ ได้สั่งการให้ กยท. ส่งเจ้าหน้าที่สำรวจภาคสนามตรวจสอบระดับความรุนแรงของการระบาดและจำนวนพื้นที่ที่ระบาด ควบคู่กับการแปลจากภาพถ่ายจากดาวเทียมโดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (Gisda) เพื้อใช้เป็นข้อมูลตัดสินใจออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ตลอดจนการเฝ้าระวังและควบคุมโรค หากเกิดการระบาดทั่วประเทศจะส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตยางอย่างมาก เนื่องจากต้นยางติดโรคจะมีอาการใบร่วงถึงร้อยละ 90 และน้ำยางลดลงร้อยละ 30-50
นายกฤษดา สังข์สิงห์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กยท. เปิดเผยว่า ได้ประสานกับ กยท.จังหวัดเร่งเผยแพร่ความรู้แก่เกษตรกรเกี่ยวกับการใช้สารกำจัดเชื้อรา ได้แก่ Hexaconazole Benomyl และ Thiophanate Methyl ขณะนี้สถาบันวิจัยยางกำลังทดลองปริมาณและความถี่ในการฉีดพ่นที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการกำจัดโรค เนื่องจากโรคใบร่วงจากเชื้อราชนิดนี้เป็นโรคอุบัติใหม่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังไม่มีข้อมูลว่าแม้ฉีดพ่นสารกำจัดเชื้อราไปแล้ว เชื้อรา Pestalotiopsis sp. มีระยะพักตัวอยู่ในดินนานเท่าไรเพื่อจะได้ทราบว่าต้องใช้วิธีการใดในการกำจัดที่ให้ผลสูงสุด เพราะหากเชื้อยังอยู่ในดิน เมื่อยางติดโรคแตกใบใหม่เชื้อราอาจสร้างความเสียหายได้อีก
นายกฤษดา กล่าวต่อว่า วันที่ 5 พฤศจิกายนนี้จะประชุมทางวิชาการกับประเทศสมาชิกสภาวิจัยและพัฒนายางระหว่างประเทศ (IRRDB) ที่มาเลเซีย เพื่อร่วมกันหาวิธีการป้องกัน กำจัด และควบคุมโรค โดยประเทศที่พบโรคใบร่วงชนิดนี้มี 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย อินเดีย ศรีลังกา และไทย ขณะนี้ได้ขอความร่วมมือเกษตรกรงดเคลื่อนย้ายทั้งยางชำถุง กิ่งตา และใบออกนอกพื้นที่ระบาด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค ส่วนมาตรการควบคุมโรคที่ได้ผลอยู่ระหว่างหารือกับหลายหน่วยงานว่า สมควรประกาศเป็นพื้นที่โรคระบาดพืชตาม พ.ร.บ. ควบคุมยางที่กำกับดูแลโดยกรมวิชาการเกษตรหรือไม่เนื่องจากหากประกาศเป็นเขตโรคระบาดพืชต้องทำลายต้นยางทันที ทำให้เกิดความเสียหายต่อเกษตรกรมาก อีกแนวทางหนึ่งกำลังพิจารณา คือ ประสานผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเขตภัยพิบัติจะทำให้กรมส่งเสริมการเกษตรสามารถช่วยเหลือเป็นเงินชดเชยตามระเบียบกระทรวงการคลังได้
สำหรับโรคใบร่วงจากเชื้อรา Pestalotiopsis sp. เป็นโรคระบาดรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ในทุกสายพันธุ์ยาง ซึ่งพันธุ์ที่นิยมปลูกในภาคใต้ ได้แก่ พันธุ์ RRIM 600 พันธุ์ RRIT 251 และ พันธุ์ PB 311 รวมทั้งแปลงที่อยู่ใกล้เคียงกับแปลงที่เกิดโรคสามารถฉีดพ่นป้องกันได้ โดยเชื้อราชนิดนี้ทำลายต้นยางพันธุ์ที่ปลูกในพื้นที่นั้น ได้แก่ พันธุ์ RRIM 600 พันธุ์ RRIT 251 และ พันธุ์ PB 311 ลักษณะอาการที่ปรากฏบนใบยางแก่ เมื่อเริ่มแสดงอาการจะมีรอยช้ำเป็นกลุ่มเห็นชัดเจนด้านหลังใบ หลังจากนั้นจะกลายเป็นวงค่อนข้างกลมสีเหลือง (Chlorosis) ต่อมาเนื้อเยื่อรอยสีเหลืองจะตายแห้ง (Necrosis) เป็นแผลกลมสีสนิมซีด โดยพบอาการจุดแผลต่อใบยางมากกว่า 1 แผล ต่อมาใบจะเหลืองและร่วงในที่สุด รวมถึงทำลายใบยางทุกระยะ ดังนั้น สวนใกล้เคียงกับสวนที่เกิดโรคจำเป็นต้องฉีดพ่นสารป้องกัน สำหรับสวนที่เกิดโรคแล้ว เมื่อผลิใบอ่อนออกมาใหม่ต้องฉีดพ่นป้องกันซ้ำด้วย.-สำนักข่าวไทย