ฮ่องกง 24 ต.ค. – สหรัฐส่งหนังสือทักท้วงไทย คัดค้านการแบนสารไกลโฟเซต กระทบนำเข้าถั่วเหลืองและข้าวสาลี เพราะสหรัฐยังใช้สารต้องห้ามของไทย ยอมรับกระทบต้นทุนเกษตรกรเพิ่ม 75,000-125,000 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทยทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายดอน ปรมัติวินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เนื้อหาสำคัญว่ากระทรวงเกษตรสหรัฐได้ตรวจสอบผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศไทยในการห้ามสารเคมีเกษตร 3 ชนิดที่อยู่ในระหว่างการพิจารณา
ทางสถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทยยังได้แนบเอกสารจากกระทรวงเกษตรของสหรัฐ ส่งถึงนายกรัฐมนตรีของไทยด้วยว่า การแบนสารไกลโฟเซต โดยไม่พิจารณาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อย่างเต็มที่ อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการนำเข้าถั่วเหลืองและข้าวสาลีของไทย จึงหวังว่าประเทศไทยจะพิจารณาความกังวลนี้ เพราะไกลโฟเซทเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ยาฆ่าแมลงที่ใช้กันอย่างแพร่หลายและศึกษาอย่างจริงจังในโลก หน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา (EPA) ประเมินแล้วว่าไม่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์ สอดคล้องกับความคิดเห็นทางวิทยาศาสตร์ของหน่วยงานอื่นทั้งญี่ปุ่น สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย และองค์การเกษตรแห่งสหประชาชาติ จึงขอให้ชะลอการตัดสินใจเกี่ยวกับไกลโฟเซต เพื่อหาทางออกสำหรับสหรัฐอเมริกา
คาดการณ์ว่าจะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นจากการห้าม 3 ประการ คือ 1.เกษตรกรไทยจะต้องเผชิญกับต้นทุนสารเคมีทดแทนสูงขึ้น 75,000-125,000 ล้านบาท ของราคาตลาดของไทยในปัจจุบัน 2.หากไม่พบสารเคมีทดแทนที่เหมาะสม (เนื่องจากกลูโคซิเนต มีแอมโมเนียมมีพิษมากกว่า ไกลโฟเซท แต่น้อยกว่าพาราควอต) ทำให้ต้นทุนแรงงานสูงขึ้นสำหรับการปราบวัชพืช ทำให้การควบคุมรวมกับการสูญเสียผลผลิตพืช คาดว่าจะสูงถึง 128,000 ล้านบาท 3.สิ่งที่สหรัฐกังวลมากที่สุด คือ จะมีผลกระทบต่อการนำเข้าถั่วเหลือง ข้าวสาลี กาแฟ แอปเปิ้ล และองุ่น จากสหรัฐ มูลค่า 51,000ล้านบาท ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นยังไม่รวมถึงผลกระทบที่ตามมาของผู้ผลิตอาหาร เช่น อุตสาหกรรมเบเกอรี่และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่พึ่งพาข้าวสาลีที่นำเข้า 100% เพื่อมาดำเนินธุรกิจมูลค่า 40,000 ล้านบาท
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยอมรับว่าต้องศึกษารอบด้านในการหาสารทดแทนเข้ามาใช้ เพราะกระทบหลายส่วน การทำงานเมื่อเป็นปัญหาการเมืองมักมีปัญหาตามมา.-สำนักข่าวไทย