นครกวางโจ 22 ต.ค. – “สมคิด” เร่งประมูล 5 จี กลางปี 63 รองรับเศรษฐกิจดิจิทัล เยือนจีนหารือ “เหริน เจิ้งเฟย” ผู้ก่อตั้งหัวเหว่ย หวังดึงมา Academy ในเขตอีอีซี พร้อมดึงอุตสาหกรรมเป้าหมาย นวัตกรรม ไบโอชีวภาพเอกชนรายใหญ่ของจีน ปลื้มนักลงทุนจีนสนใจปักหลักไทยในอีอีซี
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน มณฑลกว่างตุ้ง ระหว่างวันที่ 21-25 ตุลาคม 62 เพื่อชักจูงนักลงทุน โดยมีผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และสำนักงานคณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เป็นเวทีสำคัญ เพื่อผลักดันและขยายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนจากจีน หวังดึงการไปยังเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ของไทย
นายสมคิด ยังเดินทางไปเยี่ยมชมไลน์การผลิตของบริษัทหัวเหว่ย และเยี่ยมชมสำนักงานใหญ่ และหัวเหว่ย Academy เพื่อนายเหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งบริษัทหัวเว่ย หวังดึงเข้ามาร่วมกับไทยพัฒนา พัฒนาบุคลากรร่วมกันในเขตอีอีซี โดยบริษัทหัวเหว่ยได้มีนักวิจัยแสนคนทำงานและศึกษาอยู่ในศูนย์ดังกล่าว เพราะเห็นว่ารายได้หลักขององค์กรมาจากการทำวิจัยและพัฒนา เพราะการวิจัยและพัฒนาสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจยุคใหม่ เห็นได้จากหัวเว่ยมีลงทุนร้อยละ 15 ของรายได้ ซัมซุงลงทุนวิจัยร้อยละ 20 ของรายได้ และความต้องการของภาคเอกชน ได้เน้นเข้ามาลงทุนผ่านระบบ 5G เพราะเป็นการปฏิรูปไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลครั้งสำคัญ หัวเหว่ยจึงแนะให้รัฐบาลไทยวาง 5 G ให้มีความพร้อมและสมบูรณ์ หากเปิดประมูลอีก 2 ปีข้างหน้า ถือว่ายังล่าช้าเกินไป เพราะประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน เช่น มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ เตรียมเริ่มทดลองใช้ระบบ 5 G
“เตรียมประสาน กสทช.เร่งรัดการเปิดประมูลคลื่นความถี่ 5 G ให้เร็วขึ้นช่วงกลางปี 2563 กำหนดเงื่อนไขการประมูล โดยไม่ยึดหลักหารายได้เข้าคลังเป็นหลัก แต่ผู้ประมูล 5G ต้องเน้นให้บริการคลื่นความถี่ทันสมัยรองรับการปฏิรูปเศรษฐกิจ บริการพื้นฐานที่ต้องใช้คลื่นความถี่ความเร็วสูง หวังติดอาวุธให้กับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพไทย เพื่อประโยชน์กับการพัฒนาของภาคเอกชน ประชาชนวงกว้างมากที่สุด” นายสมคิด กล่าว
นายสมคิด กล่าวว่า การหารือกับบริษัทชั้นนำในมณฑลกวางตุ้งประเทศจีนหลายบริษัทมีความสนใจที่จะเข้าไปลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่เขตอีอีซี โดยผู้บริหารของบริษัท Primax และบริษัท Tymphancy เป็นบริษัทผู้นำในเรื่องเทคโนโลยีเสียงระดับต้น ๆ ของโลกของใต้หวัน ซึ่งมีฐานการผลิตในจีน ได้ตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย หลังจากได้เปรียบเทียบไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอีก 8 ประเทศ และสุดท้ายเหลือไทยกับเวียดนาม ส่วนบริษัทอื่นจีนต่างสนใจมาลงทุนในประเทศไทย หลังหารือกับผู้บริหารระดับสูงร่วมกับบีโอไอ จากการหารือกับผู้บริหารหลายบริษัท เช่น บริษัท Quantum Hi – Tech (China) Biological นับเป็นผู้นำเรื่องอุตสาหกรรมชีวภาพและผลิตยาแก้อาการโรคเบาหวาน ด้วยการใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบหลักผ่านการพัฒนาโดยใช้นวัตกรรม ส่วนการหารือกับ บริษัท Hairma ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแสดงความสนใจในการลงทุนในประเทศไทยเช่นกัน
“การตัดสินใจเลือกเข้ามาลงทุนในไทย เนื่องจากมีความมั่นใจในเรื่องของความต่อเนื่องของนโยบาย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการลงทุนขยายกิจการ ที่สำคัญไทยเป็นแหล่ง ที่ตั้ง เหมาะสม สำหรับ ขยายการลงทุน เพราะไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาค CLMVT ทำให้นักลงทุนจีนตัดสินใจเข้ามาลงทุน เตรียมยื่นขอการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอเร็ว ๆ นี้” นายสมคิด กล่าว
นายสมคิด และนาย Li Xi (หลี่ ซี) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มณฑลกวางตุ้ง เป็นสักขีพยาน การลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมระหว่างสำนักงานอีอีซีกับรัฐบาลมณฑลกวางตุ้ง โดยมี นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการอีอีซี กับ นาย Mr.Zhang Hu รองผู้ว่าการมณฑลกวางตุ้ง ร่วมลงนามความร่วมมือดังกล่าว ภายใต้ยุทธศาสตร์ Belt and Road และนโยบาย Thailand 4.0 ของไทย เพื่อเชื่อมโยงพื้นที่อีอีซี กับมณฑลกวางตุ้งและ เขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (GBA) เพื่อร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย อุตสหากรรมการแพทย์ เทคโนชีวภาพ การบิน โลจิสติกส์ ด้านการวิจัยและพัฒนาและนวัตกรรม พัฒนาด้านการศึกษา พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อให้ความร่วมมือทั้ง 2 ฝ่ายเห็นผลเป็นรูปธรรม จึงยกระดับคณะทำงานขึ้นมาเป็นระดับรัฐมนตรี จึงดึงนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มาร่วมลงนาม เพื่อขับเคลื่อนการทำงานของอีอีซี กับ GBA ของจีน รองรับเส้นทางสายไหมให้คืบหน้า เพราะจีนตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางของ CLMVT
นายสุวิทย์ เมษิณทรีย์ รัฐมนตรีว่ากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า กระทรวง อว.โดยสำนักงานพัฒนา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.)ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ MOU กับบริษัทหัวเหว่ย เพื่อมาจัดตั้ง Huawei Academy ในประเทศไทยเพื่อเป็นศูนย์อบรมบ่มเพาะบุคลากรด้านดิจิทัลและ ICT สำหรับภูมิภาคอาเซียน กำหนดเปิดศูนย์ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยวันจันทร์ที่ 28 ตุลาคมนี้ เตรียมเชิญระดับอธิการบดีมหาวิทยาลัย มาร่วมกำหนดทิศทางการพัฒนาบุคลากรร่วมกันให้ชัดเจน เพื่อพัฒนาแรงงานรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อร่วมกันปฏิรูปการจัดทำหลักสูตรรองรับทั้งนักศึกษา ผู้เรียนจบ และเตรียมการให้กับผู้สูงอายุให้มีงานทำเหมาะตามวัย เปิดให้ทุกกลุ่มอาชีพได้พัฒนาอาชีพ เข้ารับการอบรม นอกเหนือจากการเน้นเรื่องวุฒิการศึกษา แต่เน้นเรื่องสร้างประสบการณ์ และการสร้างอาชีพ เพื่อจัดแบ่งหน้าที่ของมหาวิทยาลัยชั้นนำ มหาวิทยาลัยราชภัฏ ราชมงคล เพื่อยกระดับสังคมไทยรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล.-สำนักข่าวไทย