กรุงเทพฯ 22 ต.ค. –รมว.เกษตรฯ เร่งตั้งคณะทำงานพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด ชี้กรมวิชาการเกษตรเตรียมหาสารเคมีอื่นและสารชีวภัณฑ์ทดแทนไว้แล้ว เตรียมเสนอ ครม.เยียวยาเกษตรกรต้องแบกภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น พร้อมผลักดัน พ.ร.บ. เกษตรกรรมยั่งยืนให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว เพื่อที่เกษตรกรจะมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพและประชาชนได้บริโภคอาหารปลอดภัย
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ผลการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตรายวันนี้ (22 ต.ค.) แบนสารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ย่อมส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่มีความจำเป็นต้องใช้สารป้องกันกำจัดวัชพืชและศัตรูพืช แต่กระทรวงเกษตรฯ เตรียมมาตรการรองรับไว้ก่อนหน้านี้แล้ว โดยให้กรมวิชาการเกษตรรวบรวมสารชีวภัณฑ์มาส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ ส่วนพืชเศรษฐกิจที่ยังจำเป็นต้องใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชและศัตรูพืชได้ให้หาสารอื่นมาทดแทน
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ให้ความสำคัญในการดูแลเกษตรกรทั่วประเทศ จึงจะเร่งตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อพิจารณาปัญหาของเกษตรกรและหาแนวทางแก้ไขให้ทั้งกรณีที่สารเคมีอื่นอาจมีราคาแพงกว่าหรือค่าแรงงานในการจัดการแปลง หากต้องมีมาตรการช่วยเหลือด้านต้นทุนการผลิตใด ๆ แก่เกษตรกรต้องผ่านความเห็นชอบของ ครม.ก่อน
นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า กำลังเร่งขับเคลื่อนมาตรการลดต้นทุนการผลิต ได้แก่ การผลิตปุ๋ยสั่งตัดให้ตรงกับผลวิเคราะห์ธาตุอาหารในดิน ซึ่งจะเพิ่มทั้งปริมาณและคุณภาพของผลผลิต การส่งเสริมการทำเกษตรแปลงใหญ่ เนื่องจากการที่เกษตรกรรวมกลุ่มกันจะทำให้ซื้อปัจจัยการผลิตได้ในราคาถูกลง กรณีที่จำเป็นต้องใช้เครื่องจักรกลการเกษตรและเทคโนโลยีการเกษตรเพื่อทำเกษตรอัจฉริยะ (Precision Farmimg) จะสามารถเข้าไปสนับสนุนได้อย่างทั่วถึง
นอกจากนี้ จะเร่งขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ.เกษตรกรรมยั่งยืน พ.ศ. … ซึ่งอยู่ในการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการตราเป็นกฎหมายบังคับใช้เร็วที่สุด โดยขณะนี้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารเกษตรกรรมยั่งยืนแล้ว ซึ่งมี รมว.เกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน แล้วจะเร่งเสนอร่างพ.ร.บ.เกษตรกรรมยั่งยืนเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรโดยเร็ว เพื่อจะเดินหน้าทำเกษตรปลอดภัยเต็มรูปแบบในพื้นที่เกษตร 149 ล้านไร่ทั่วประเทศ พร้อมกับตรา พ.ร.บ.องค์กรเกษตรอินทรีย์แห่งชาติเพื่อเป็นองค์กรทำหน้าที่ขับเคลื่อนการทำเกษตรในประเทศไทยให้ดำเนินตามศาสตร์พระราชาได้แก่ ทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ โดยดำเนินการผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) 882 แห่งทั่วประเทศ และศูนย์ถ่ายทอดความรู้ที่มีอยู่ 10,000 กว่าแห่ง รวมทั้งร่วมกับยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายปรับเปลี่ยนพื้นที่เกษตรเคมีไปเป็นเกษตรอินทรีย์ 1 ล้านไร่ โดยภายในปี 2562-2563 จะทำให้ได้ 5 ล้านไร่ และจะขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ในอัตราร้อยละ 25 ในปีต่อ ๆ ไป
“ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีหน้าที่ดูแลทุกภาคส่วน สำหรับเกษตรกรต้องมีรายได้อย่างยั่งยืนและมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ ประชาชนคนไทยบริโภคอาหารที่ปลอดภัย นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นครัวของโลก จึงต้องส่งเสริมเกษตรกรให้ผลิตสินค้าเกษตรได้อย่างมีคุณภาพและตรงความต้องการของตลาด ซึ่งรับปากว่าจะรับผิดชอบเรื่องนี้อย่างดีที่สุด” นายเฉลิมชัย กล่าว.-สำนักข่าวไทย