มหาสารคาม 21 ต.ค.- เครือข่ายเกษตรกรมหาสารคามหนุนเลิกใช้สารเคมี ชี้เป็นจังหวัดได้รับการประกาศให้เป็นเมืองหลวงของเกษตรกรรมยั่งยืน ระบุการไม่ใช้สารเคมีก็สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีได้
เมื่อเวลา 11.00 น. (21 ต.ค.) เครือข่ายประชาชนสนับสนุนการยกเลิกใช้สารพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส เข้ายื่นหนังสือต่อนายเกียรติศักดิ์ จันทรา ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม และเรียกร้องให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายลงมติโดยเปิดเผยที่จะมีการประชุมพิจารณาเรื่องดังกล่าวในวันพรุ่งนี้ (22 ต.ค.)
น.ส.มาลี สุปันตี สมาชิกกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน กล่าวว่า มหาสารคามเป็นจังหวัดที่ถูกประกาศให้เป็นเมืองหลวงของเกษตรกรรมยั่งยืน เนื่องจากมีต้นทุนรูปธรรมในการทำเกษตรกรรมยั่งยืนที่เข้มแข็งหลากหลายมากกว่า 10 กลุ่ม มีพื้นที่จำหน่ายสินค้าและผลผลิตปลอดภัย มีตลาดนัดสีเขียวที่ร่วมมือกับหน่วยงานโรงพยาบาลระดับจังหวัด อำเภอไม่น้อยกว่า 10 แห่ง มีมติสมัชชาสุขภาพจังหวัดว่าด้วยการสร้างพื้นที่อาหารปลอดภัยและการขับเคลื่อนระดับนโยบายสาธารณะ ระดับจังหวัดด้วยกระบวนการสมัชขาสุขภาพ ดังนั้น เครือข่ายฯ เห็นว่าสารเคมีทางเกษตรกรทุกชนิดเป็นอุปสรรคต่อระบบเกษตรกรรมยั่งยืน เป็นอันตรายต่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภคด้วย จึงขอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายที่จะมีการประชุมกันวันพรุ่งนี้พิจารณาอย่างถี่ถ้วน รวมถึงผลกระทบในระยะยาว
“มีหลายวิธีที่ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมี ไม่ใช่มองเพียงแค่ตัวเลขว่าพื้นที่ 30-50ไร่ จะมีรายได้เท่าไหร่ แต่อยากให้มองถึงเรื่องสุขภาพ ความยั่งยืน ความปลอดภัยของผู้บริโภค เราเชื่อว่าการทำเกษตรยั่งยืนสามารถทำรายได้ สามารถทำให้พี่น้องเกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี สร้างเศรษฐกิจของครอบครัวได้” น.ส.มาลี กล่าว
ด้านนางนวลจันทร์ จันทะบุตร สมาชิกกลุ่มเกษตรอินทรีย์หนองคูศรีวิไลซ์ กล่าวว่า การใช้สารเคมีมีผลต่อสุขภาพ สภาพแวดล้อมในชุมชน ทำให้เกิดโรค แม้ไม่ได้เป็นผู้ใช้สารโดยตรง แต่ก็รับผลกระทบได้ ซึ่งตนเลิกใช้สารเคมีตั้งแต่ปี 43 ก่อนใช้และหลังใช้มีความแตกต่างอย่างชัดเจน สุขภาพดีขึ้น.-สำนักข่าวไทย