กรุงเทพฯ 18 ต.ค. – ไบโอไทยตรวจสอบข่าวนักการเมืองเก็งกำไร นำเข้าสารกลูโฟซิเนตแอมโมเนียม ทดแทนการแบนพาราควอตและไกลโฟเซต ไม่ปรากฏหลักฐานบ่งชี้ สตอกล่าสุดสารกลูโฟซินเนตนำเข้า น้อยกว่าไกลโฟเซตประมาณ 10 เท่า
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิไบโอไทย กล่าวถึงกระแสข่าวว่ามีนักการเมืองต้องการแบนพาราควอตและไกลโฟเสตแล้วนำเข้าสาร “กลูโฟซิเนตแอมโมเนียม” ซึ่งเป็นสารเคมีควบคุมวัชพืชอีกชนิดมาแทนเพื่อเก็งกำไรนั้น จากการตรวจสอบสตอกล่าสุดสารกลูโฟซิเนตที่มีการนำเข้ายังน้อยกว่าไกลโฟเซตประมาณ 10 เท่า หากมีการแบนสารไกลโฟเซตและพาราควอตจริง คาดว่าจะมีหลายบริษัทที่ขอนำเข้าจากจีนและมาเลเซีย ซึ่งจะส่งผลให้ราคาลดต่ำอย่างรวดเร็ว โดยผู้บริหารหน่วยงานระดับสถาบันในกรมวิชาการเกษตรได้ให้ข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎรว่า ราคาของสารกลูโฟซิเนตนำมาใช้ทดแทนนั้น จะลดต่ำเหลือเพียง 150 บาทต่อลิตร ต่ำกว่าพาราควอตที่ขณะนี้อยู่ที่ 170 – 180 บาทต่อลิตร
ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงการเก็งกำไรของบริษัทสารเคมีกำจัดทางการเกษตรนั้น จากสถิติที่เห็นได้ชัดเจนว่า เป็นการนำเข้าพาราควอตเพื่อกักตุนปี 2560 หลังกระทรวงสาธารณสุขเสนอให้มีการแบนสารดังกล่าว โดยการนำเข้าเพิ่มขึ้นจาก 31,525,596 กิโลกรัม เป็น 44,501,340 กิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้นกว่า 41% และคลอร์ไพริฟอส เพิ่มขึ้นจาก 2,071,128 เป็น 3,324,806 กิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้นมากถึง 61% จึงเห็นว่าการปั้นข่าวนักการเมืองเก็งกำไรกลูโฟซิเนตเป็นการพยายามปั่นกระแส เพื่อสร้างความชอบธรรมในการต่อต้านการแบนพาราควอตและไกลโฟเซต มูลนิธิไบโอไทยไม่เห็นด้วยต่อแนวทางการแบนสารพิษ 2 ชนิดและนำเข้าสารพิษอีกตัวเพิ่มขึ้น แต่ควรเสนอทางเลือกควบคุมจำกัดวัชพืช โดยใช้เครื่องกล/เครื่องจักรกล พืชคลุมดิน และการจัดระบบการปลูกพืชแทน
ทางด้านกรมวิชาการเกษตรได้นำเสนอข้อมูลในเว็บไซต์ของกรมวิชาการเกษตรปรากฎถึงมีการขึ้นทะเบียนสารเคมีชนิดใหม่ คือ สารกลูโฟซิเนต เพื่อทดแทนสารพาราควอตและไกลโฟเซต พบว่าปี 2554 – 2560 มีการขึ้นทะเบียนสารกลูโฟซิเนตปีละ 4-7 ทะเบียน มีทั้งทะเบียนการนำเข้า ส่งออกและทะเบียนผลิต ต่อมาปี 2561 หลังจากที่มีมาตรการห้ามนำเข้าและขึ้นทะเบียนพาราควอตและไกลโฟเซตปรากฏว่า มีสารกลูโฟซิเนตมาขึ้นทะเบียนนำเข้าและผลิตรวม 37 ทะเบียน เพิ่มขึ้น 5-6 เท่าตัว ส่วนใหญ่ทะเบียนจะหมดอายุปี 2567
ทั้งนี้ ปี 2554 บริษัทที่ขึ้นทะเบียนกลูโฟซิเนต คือ บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด แหล่งผลิตมาจากเยอรมนีและมาเลเซีย เป็นการขึ้นทะเบียนประเภทส่งออก ส่วนบริษัทที่ขึ้นทะเบียนนำเข้าและผลิตมี 2 บริษัท โดยแหล่งผลิตมาจากมาเลเซีย ต่อมามีบริษัทขึ้นทะเบียนกลูโฟซิเนตหลายบริษัทโดยแหล่งผลิตส่วนใหญ่มาจากจีนโดยเฉพาะปี 2561 มี 37 ทะเบียน แบ่งเป็นเป็นทะเบียนนำเข้า 15 ทะเบียน ที่เหลือเป็นทะเบียนผลิต โดยมีแหล่งผลิตสารมาจากจีนถึง 34 ทะเบียน.-สำนักข่าวไทย