กรุงเทพฯ 24 มี.ค. จากการประเมินโดยไบโอไทย โอกาสที่อนุกรรมการเฉพาะกิจฯ จะเสนอให้มีการแบนพาราควอตมีโอกาสน้อยกว่า 30% มีโอกาสสูงที่จะมีการเสนอให้มีการใช้พาราควอตต่อไปโดยอ้างว่าเสนอให้มีการใช้แบบควบคุมอย่างเข้มงวดเพื่อลดกระแสต่อต้านจากหลายหน่วยงานและภาคประชาชน
โดยไบโอไทย วิเคราะห์ว่า มีโอกาสน้อยมากที่ในวันที่ 27 มีนาคม 2561 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการพิจารณาของอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อพิจารณาเรื่องพาราควอต จะมีการเสนอให้มีการแบนสารพิษดังกล่าว ตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขและคณะทำงานสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง 4 กระทรวงหลัก
เหตุผลหลักเนื่องจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายซึ่งมีหน้าที่ตามกฎหมาย แต่งตั้งอนุกรรมการเฉพาะกิจซึ่งพิจารณาเกี่ยวกับการแบนพาราควอตมาจากหน่วยงานที่มาจาก ด้านการผลิตทางการเกษตรและอุตสาหกรรมมาเป็นเสียงส่วนใหญ่ ในอนุฯซึ่งจะทำหน้าที่ในการชงเรื่องว่าจะมีการแบนหรือไม่แบนพาราควอต
ทั้งๆที่ในหลักการทั่วไปและแนวปฏิบัติของหลายประเทศ การแบนสารพิษใดๆ หน่วยงานหลักที่ทำหน้านี้ได้แก่กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ในกรณีสหรัฐอเมริกาคือ EPA หรือ FDA และในบราซิลคือ ANVISA เป็นต้น แต่ในประเทศไทยอำนาจการแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชกลับเป็นของกระทรวงเกษตรฯและกรรมการวัตถุอันตรายซึ่งมีตัวแทนจากบริษัทเอกชนที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนนั่งเป็นกรรมการในการพิจารณารวมอยู่ด้วย
โดยหากพิจารณาที่มาของอนุกรรมการชุดนี้ มีที่มาจากกระทรวงเกษตรและอดีตข้าราชการในกระทรวงเกษตรถึง 4 คน จากการประเมินโดยไบโอไทย ทั้ง 4 คนจะเสนอความเห็นให้มีการใช้พาราควอตต่อไป แต่เพื่อสร้างความชอบธรรมให้มีการใช้สารพิษนี้ก็มีแนวโน้มสูงที่จะมีการเสนอในรูปแบบ “ควบคุมการใช้อย่างเข้มงวด” ซึ่งแทบไม่มีทางที่จะสามารถบังคับใช้ได้ การเสนอให้มีการควบคุมการใช้อย่างเข้มงวด (restricted use) จึงมีค่าเท่ากับการอนุญาตให้มีการใช้สารพิษนี้ต่อไปนั่นเอง
โดยตัวแทนจากกรมวิชาการเกษตรทั้ง2คนน่าจะสนับสนุนให้มีการใช้พาราควอตต่อไป เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับอธิบดีกรมวิชาการเกษตรที่เดินหน้าอนุญาตให้บริษัทยักษ์ใหญ่ขึ้นทะเบียนไปก่อนหน้านี้แล้วโดยไม่รับฟังข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข// ส่วนอดีตข้าราชการกรมวิชาการเกษตรน่าจะไม่แบนพารารควอตด้วยเหตุผลเดียวกับที่ไม่แบนคาร์โบฟูราน // ส่วนตัวแทนจากสำนักงานมาตรฐานอาหารแห่งชาตินั้น จากการที่ไบโอไทยเคยเข้าร่วมประชุมกับฝ่ายนโยบายของกระทรวงเกษตร ผู้บริหารของหน่วยงานนี้มีท่าทีจะสนับสนุนการใช้พาราควอตค่อนข้างแน่
ไบโอไทยอ้าง ข้อมูลจากแหล่งข่าวในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่า ตัวแทนของกรมควบคุมมลพิษน่าจะเสนอความเห็นให้มีการใช้พาราควอตต่อไป เนื่องจากไม่เชื่อถือข้อมูลเกี่ยวกับการตกค้างของพาราควอตในสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นงานวิจัยของมหาวิทยานเรศวร มหาวิทยาลัยมหิดล และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ออกมาก่อนหน้านี้
อนุกรรมการที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพิษวิทยา 2 คน มีแนวโน้มที่จะสนับสนุนการใช้พาราควอตต่อทั้ง 2 คน โดยคนหนึ่งอยู่ในอนุกรรมการที่เคยแสดงความเห็นคัดค้านการแบนคาร์โบฟูรานทั้งๆที่สารพิษนั้นมีการแบนมาแล้วทั่วโลกแม้กระทั่งสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้ผลิตและเป็นผู้ส่งออกมายังประเทศไทยเอง ส่วนอีกหนึ่งคนนั้นเข้าร่วมกิจกรรมกับสมาคมผู้ค้าสารพิษและแสดงทัศนะโน้มเอียงไปในทิศทางที่จะไม่แบนพาราควอตเช่นกัน
มีเพียงอนุกรรรมการเฉพาะกิจ 2 คนเท่านั้นจากทั้งหมด 14 คนที่จะเสนอให้มีการแบน คือ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งได้ให้สัมภาษณ์สนับสนุนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และอีกคนเป็นกรรมการวัตถุอันตรายที่มาจากตัวแทนองค์กรสาธารณประโยชน์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและคณะกรรมการขับเคลื่อนมติของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (ซึ่งมีจุดยืนให้แบนพาราควอต) ส่วนอีกท่านหนึ่งแม้จะมาจากกระทรวงสาธารณสุข แต่ไบโอไทยประเมินว่าหากผู้บริหารในกระทรวงไม่สั่งการให้ต้องดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงฯที่ประสงค์จะให้แบนพาราควอตก็มีแนวโน้มที่จะเลือกไม่แสดงความคิดเห็น
กรรมการที่เหลือนอกเหนือจากประธานซึ่งแสดงภาพว่าต้องรักษาความเป็นกลางแล้ว เป็นอนุกรรมการที่มาจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม และกระทรวงวิทยาศาสตร์ ซึ่งโดยทั่วไปตัวแทนจากหน่วยงานรัฐอื่นจะหลีกเลี่ยงที่จะแสดงความคิดเห็นเพราะเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
จากการประเมินโดยไบโอไทย โอกาสที่อนุกรรมการเฉพาะกิจจะเสนอให้มีการแบนพาราควอตมีโอกาสน้อยกว่า 30% มีโอกาสสูงที่จะมีการเสนอให้มีการใช้พาราควอตต่อไปโดยอ้างว่าเสนอให้มีการใช้แบบควบคุมอย่างเข้มงวดเพื่อลดกระแสต่อต้านจากหลายหน่วยงานและภาคประชาชน
สิ่งที่ควรเป็นห่วงอย่างยิ่งคือเมื่ออนุกรรมการมีความเห็นเช่นไร โดยทั่วไปคณะกรรมการวัตถุอันตราย(ซึ่งเป็นคนแต่งตั้งอนุกรรมการชุดนี้)จะมีความเห็นเช่นนั้นด้วย ดังคำให้สัมภาษณ์ของ นาย ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อดีตอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ประชาติธุรกิจ เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2557 กรณี “คณะกรรมการวัตถุอันตรายอาศัยช่วงชุลมุนปล่อย คาร์โบฟูราน – เมโทมิล ลอยนวล” ดังต่อไปนี้
“กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการนั้นมีการตั้งคณะอนุกรรมการเป็นผู้พิจารณา ความเหมาะสมในการจัดชนิดของวัตถุอันตราย และทำการพิจารณากันหลายรอบ ในทางปฏิบัติคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะไม่ค่อยได้ออกความเห็น ถ้าสารเคมีชนิดใดเกี่ยวข้องกับกระทรวงไหน จะให้คณะกรรมการและอนุกรรมการที่มาจากกระทรวงนั้นเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องนี้ประกอบด้วยนักวิชาการด้านเกษตรเป็นส่วน มาก โดยมี ดร.นวลศรี ทยาพัชร อดีตผู้อำนวยการกองวัตถุมีพิษการเกษตร กรมวิชาการเกษตร เป็นประธานคณะอนุกรรมการ ส่วนการพิจารณาลงความเห็นจะเป็นไปตามที่คณะอนุกรรมการพิจารณาและเสนอขึ้นมา เมื่อคณะอนุกรรมการพิจารณาเสนอเรื่องขึ้นมาแล้ว คณะกรรมการวัตถุอันตรายจะเห็นชอบตามนั้นและออกมาเป็นมติสิ้นสุด”
หากประชาชนไม่ลุกขึ้นมาเรียกร้องและตรวจสอบ และหากฝ่ายบริหารซึ่งหมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายกให้ข้อสรุปและมีมติยืนยันให้แบนพาราควอต รวมถึงตัวนายกรัฐมนตรีเองไม่ใช้อำนาจของฝ่ายบริหารที่กำกับคณะกรรมการวัตถุอันตราย ประเทศไทยจะยังคงแผ่นดินอาบสารพิษต่อไปอีกนานเท่านาน.-สำนักข่าวไทย