รัฐสภา 17 ต.ค.- ปชป.ชี้ งบฯ 63 ไม่มีมาตรการรองรับวิกฤตเศรษฐกิจ ส่วนโครงการชิม ชอป ใช้ กระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่ไม่เกิดประโยชน์ระยะยาว ขณะที่อนาคตใหม่ ค้าน พ.ร.บ.งบ ฯ 63 ไม่ตอบโจทย์ปัญหาประเทศ
นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ว่า จากการประเมินภาวะเศรษฐกิจและการคลังของไทยและของโลกจากสถาบันต่างๆ แตกต่างจากสิ่งที่รัฐบาลประเมินในหลายเรื่อง ซึ่งรัฐบาลประเมินสูงกว่าความเป็นจริง ทั้งตัวเลขจีดีพีที่คาดว่าจะอยู่ที่ 3.0 ในปีหน้า แต่สถาบันต่างๆ ประเมินว่าจะอยู่ที่ 2.7และ 2.9 จากการชะลอตัวของสภาวะเศรษฐกิจ การส่งออกติดลบมีความเสี่ยงสูงในการดำเนินธุรกิจจากปัจจัยภายนอกที่ไม่มีความแน่นอน ซึ่งปีหน้าจะวิกฤตกว่านี้และรัฐบาลแทบทุกประเทศส่งสัญญาณให้ประชาชนประหยัด แต่รัฐบาลไทยกลับมีนโยบาย ชิม ช้อป ใช้ แม้จะกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นได้ แต่ไม่ทำให้เกิดประโยชน์ในระยะยาว ประกอบกับร้านค้ารายย่อยยังคงซบเซา หนี้สินเพิ่ม อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น มี 16 จังหวัดที่รายได้ครัวเรือนลดลง รัฐบาลจึงควรมีนโยบายเฉพาะเขตพื้นที่มาแก้ปัญหา ซึ่งร่างงบฯ ฉบับนี้ยังไม่มีมาตรการมารองรับ
นายวีรกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ปี 63 ว่า ไม่ใช่นโยบายสิ้นคิดอย่างที่ฝ่ายค้านกล่าวหา แต่เป็นนโยบายสมคิด เป็นนโยบายที่ผ่านการคิดมาอย่างรอบคอบ มีแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบาย ชิม ช้อป ใช้ ทำให้การใช้จ่ายในต่างจังหวัดเพิ่มมากขึ้น และการตั้งงบฯ ขาดดุล 4.69 แสนล้านบาท ได้ประเมินจากสภาวะเศรษฐกิจสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ ดังนั้นจึงอยากให้มีงบฯ กลางปีมากระตุ้นเศรษฐกิจ ในด้านสาธารณูปโภค และชดเชยเยียวยาให้กับเกษตรกรที่ประสบปัญหาการเพาะปลูก ด้วยการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชน นอกจากนี้ยังอยากให้มีการผันน้ำจากแม่น้ำสายหลัก เช่นแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาละวิน เข้าสู่ระบบชลประทาน ให้เกษตรกรมีน้ำไว้ทำการเกษตร
นางสาวศิริกัญญา ตันสกูล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 63 เพราะการจัดงบฯ ของรัฐบาลไม่สอดคล้องและไม่คุ้มค่ากับปัญหาของประเทศ ที่มีโจทย์ใหญ่ทั้งหมด 8 ข้อ อาทิ ปัญหาเศรษฐกิจฐานรากที่รัฐบาลมุ่งเน้นแต่การเติบโตของจีดีพี ไม่สอดคล้องกับรายได้ของประชาชนทั้งภาคแรงงานและภาคการเกษตร อีกทั้งยังขาดการลงทุนขนาดเล็ก มุ่งเน้นแต่โครงการเมกกะโปรเจค รถไฟความเร็วสูง นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ที่คนฐานรากไม่สามารถจับต้องได้ ขณะที่งบฯ ท้องถิ่นที่ตั้งเป้ากระจายรายได้ร้อยละ 35 ของงบฯ รัฐบาล แต่เมื่อใช้จริงกลับทำได้เพียงร้อยละ 22 เท่านั้น และมีการดึงงบฯ กลับมาเป็นงบของกลุ่มจังหวัด ซึ่งไม่ตอบโจทย์ความต้องการของคนในพื้นที่
นอกจากนี้งบฯ ปี 2558 – 2562 พบว่าหลายหน่วยงาน เช่น กองทัพบก กองทัพอากาศ สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีอัตราการเบิกจ่ายเพียงร้อยละ 60 เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าเป้า แต่การจัดสรรงบฯในปี 63 กลับได้งบฯ เพิ่มขึ้น ขณะที่งบฯยุทธศาสตร์การเพิ่มขีดความสามารถถูกนำมาใช้ในการสร้างถนนและใช้หนี้ ธกส. ซึ่งไม่ตอบโจทย์ปัญหาประเทศ.-สำนักข่าวไทย