กรุงเทพฯ 11 ต.ค.- “เจษฎ์” เรียกร้องรัฐบาลเตือนนักการเมืองไทย หยุดแทรกแซงการเมืองฮ่องกง หวั่นกระทบความสัมพันธ์ไทย-จีน ระบุ เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองต้องระวังสถานภาพ อ้างเป็นเรื่องส่วนตัวไม่ได้
นายเจษฎ์ โทณวณิก อดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึง กรณีทางการจีนออกมาตำหนินักการเมืองไทยไปเคลื่อนไหวแทรกแซงการชุมนุมขอแยกตัวจากจีนของฮ่องกง ว่า รัฐบาลไทยสามารถจะเอาผิดได้หรือไม่ ต้องดูว่ามีพยานหลักฐานว่า การกระทำนั้นกระทบต่อความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศหรือไม่ และการกระทำของบุคคลดังกล่าว ทำให้ทางการจีนลดระดับความสัมพันธ์กับไทยหรือไม่ หากเขาลดความสัมพันธ์ ก็เข้าข่ายเป็นการทำให้กระทบต่อความมั่นคงของไทย
“ส่วนจะเป็นความผิดตามกฎหมายพรรคการเมืองหรือไม่ ก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า การกระทำนั้นกรรมการบริหารพรรคมีส่วนรู้เห็นด้วยหรือไม่ และพรรคได้รับประโยชน์จากการกระทำของนักการเมืองคนนั้นหรือไม่” นายเจษฎ์ กล่าว
นายเจษฎ์ ยังเห็นว่า กรณีนี้สถานทูตจีนประจำประเทศได้ออกแถลงการณ์ ดังนั้น รัฐบาลไทยจะเพิกเฉยไม่ได้ ต้องให้สถานทูตไทยในประเทศจีนชี้แจงว่า รัฐบาลไทยจะดำเนินการอย่างไรกับเรื่องนี้ ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ต้องนำคำแถลงของสถานทูตจีนมาเตือนนักการเมืองของไทยว่า ขอให้หยุดการกระทำดังกล่าว พร้อมกับแจ้งให้นักการเมืองไทยทราบว่า หากทางการจีนมีหนังสือแจ้งมายังรัฐบาลอย่างเป็นทางการ ก็จำเป็นที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการทางกฎหมายกับนักการเมืองคนดังกล่าว
“ถือว่าเป็นทางออกที่ดี ในการรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่าง 2 ประเทศ อย่ามองว่าจีนเข้ามาแทรกแซง เพราะในทางตรงกันข้าม หากมีคนชาติอื่นเข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจการในประเทศไทย เราก็คงจะไม่ชอบและไม่อยากให้เขาเข้ามา” นายเจษฎ์ กล่าว
ส่วนที่หลายคนมองว่า การเคลื่อนไหวเรื่องประชาธิปไตยเป็นเรื่องของสิทธิเสรีภาพ นายเจษฎ์ กล่าวว่า ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพ แต่การใช้สิทธิต้องไม่กระทบต่อผู้อื่น โดยเฉพาะถ้าเราใช้สถานะบางประการไปทำให้เกิดผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือความมั่นคงของประเทศอื่น จะอ้างสิทธิไม่ได้ เพราะถ้าใครอ้างสิทธิเสรีภาพในลักษณะนั้น มันไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่ทุกบ้านเมืองจะพังหมด
นายเจษฎ์ กล่าวว่า การจะอ้างเรื่องรักประชาธิปไตย ก็ควรรักประชาธิปไตยในบ้านของตัวเอง ก่อนที่ไปรักประชาธิปไตยในบ้านเมืองอื่น เพราะเขาก็ยังมีวิธีการในการที่จัดการของเขา และหากย้อนถามว่า ถ้ามีคนอื่นมาแทรกแซงบ้านเรา เราก็คงไม่ต้องการให้เขาเข้ามาเช่นกัน แต่ถ้ามันกลายเป็นประโยชน์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ก็แปลได้ว่ามันไม่ใช่เรื่องประโยชน์ของประเทศชาติ
“หากผมเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง การจะไปไหน แล้วบอกไปส่วนตัว มันก็พูดยาก และถ้าการกระทำของหัวหน้าพรรคคนนั้นมีนัยทางการเมือง หรือมีนัยที่สามารถผูกพันองค์กรเข้าไปได้ต้องระมัดระวัง ไม่ได้แปลว่าเขาจะต้องไปในนามองค์กรเสมอ แต่ในฐานะที่คนเขามองว่า คุณเป็นตัวแทนองค์กร จึงไม่สามารถใช้สถานะส่วนตัวได้ และต้องระวังที่จะบอกว่า ทุกคนทำอะไรเป็นส่วนตัวได้หมด ถ้าไปพูดการเมือง แล้วบอกว่าทำในฐานะส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับความเป็นหัวหน้าพรรค มันก็พูดยาก เพราะเขาเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง” นายเจษฎ์ กล่าว . – สำนักข่าวไทย