ซูเปอร์โพล 6 ต.ค..-ซูเปอร์โพล เผย คุณธรรมในระดับที่น่าเป็นห่วงของคนไทย ยังมีหลายประเด็น เช่น ความสามารถยับยั้งพฤติกรรมโกงได้ โดยพบว่ามีคุณธรรมนี้ในนักศึกษาเพียงร้อยละ 27.6 และ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐมีเพียงร้อยละ 29.1
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม ร่วมกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง คุณธรรมในระดับที่น่าเป็นห่วงของคนไทยกรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,224 ตัวอย่าง ระหว่าง 1 – 5 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา
พบว่าเกินครึ่งหรือร้อยละ 54.5 ระบุสามารถควบคุมตนเองในการใช้จ่ายอย่างพอประมาณ รองลงมาคือ ร้อยละ 43.5 ระบุ สามารถวางแผนชีวิตตนเองได้ตามเป้าหมาย ร้อยละ 39.6 ระบุ มีเหตุผลมากพอในการตัดสินใจ ร้อยละ 38.9 ระบุ หักห้ามใจตนเองไม่ประมาท ร้อยละ 38.2 ระบุ รอบคอบในการใช้ชีวิต ร้อยละ 36.9 ระบุ เคารพระเบียบกฎเกณฑ์ของสังคม ร้อยละ 32.1 ระบุ สามารถยับยั้งพฤติกรรมโกงได้ ร้อยละ 28.7 ระบุ มุ่งมั่นตั้งใจทำที่ถูกต้องชอบธรรมได้ ร้อยละ 28.2 ระบุ นึกถึงประโยชน์ส่วนรวมได้ และร้อยละ 27.2 ระบุ ไม่คล้อยตามคนที่ทำผิดวินัย ผิดกฎหมาย
ที่น่าสนใจคือ เมื่อจำแนกออกตามเพศ ในคุณธรรมเรื่อง ความสามารถควบคุมในการใช้จ่ายอย่างพอประมาณได้ พบว่า ชายร้อยละ 50.2 ซึ่งน้อยกว่า หญิง ร้อยละ 58.8 นอกจากนี้ เมื่อจำแนกตามช่วงอายุในคุณธรรมด้าน ความสามารถวางแผนชีวิตตนเองได้ตามเป้าหมาย พบว่า คนอายุต่ำกว่า 20 ปี มีเพียงร้อยละ 37.1 ในขณะที่คนสูงอายุที่มากกว่า 50 ปีขึ้นไปมีอยู่ร้อยละ 54.4
ที่น่าเป็นห่วงคือ ในคุณธรรมเรื่อง ความสามารถยับยั้งพฤติกรรมโกงได้ โดยพบว่า นักศึกษามีเพียงร้อยละ 27.6 และ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐมีร้อยละ 29.1 ในขณะที่ กลุ่มเกษตรกรและรับจ้างทั่วไป กลับสูงสุดคือร้อยละ 46.4 ที่สามารถยับยั้งพฤติกรรมโกงได้ แต่ยังต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ที่ศึกษาทั้งหมด
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวต่อว่า ผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นคุณธรรม 5 อย่างสุดท้ายที่น้อยที่สุดคือ ไม่คล้อยตามคนทำผิดวินัย ผิดกฎหมาย นึกถึงประโยชน์ส่วนรวม มุ่งมั่นทำสิ่งถูกต้องชอบธรรม ยับยั้งพฤติกรรมโกง และเคารพระเบียบกฎเกณฑ์ของสังคม เหล่านี้ที่ผลการศึกษาพบตัวเลขน้อยที่สุดใน 5 อันดับสุดท้าย จึงจำเป็นต้องเร่งหาทางป้องกันและแก้ไข เพราะคุณธรรมทั้ง 5 เป็นส่วนสำคัญของความเจริญทั้งด้านวัตถุและจิตใจของประชาชนและประเทศชาติ ถ้าไม่เร่งแก้ไข ผลที่ตามมาคือ คนส่วนใหญ่จะไม่มีวินัย ทำผิดกฎหมาย จะเห็นแก่ตัว ขี้โกง และบ้านเมืองจะไร้ระเบียบ วุ่นวาย จะเข้าสู่ความเสื่อมและล่มสลายในที่สุด
ในขณะที่ ผอ.ศูนย์คุณธรรม กล่าวว่า เสียงของประชาชนส่งสัญญาณว่า แม้แต่นักศึกษาที่อยู่ในรั้วสถาบันการศึกษาที่น่าจะมีคุณธรรมสูงแต่กลับต่ำที่สุดสะท้อนให้เห็นว่า กระบวนการพัฒนาคุณภาพพลเมืองของประเทศในเด็กและเยาวชนขาดความเป็นรูปธรรมชัดเจน การให้ความสำคัญเรื่องคุณธรรมมีน้อยมาก ส่วนใหญ่ที่ทำกันก็มักจะทำแบบบังคับให้ทำเป็นเพียงพิธีกรรมไม่ได้จิตใจของพวกเขาและทำกันแบบท่องจำ
“การเรียนรู้ในมนุษย์จนเปลี่ยนพฤตินิสัยมี 3 ระดับคือ 1) ระดับที่อ่อนแอที่สุดหวังผลแทบไม่ได้เลยเป็นวังวนล้มเหลวคือ การท่องจำ เรียนจากตำราและจัดให้มีการสอบ แสดงออกแบบถูกบังคับ ซึ่งประเทศไทยมีหลายสถาบันที่ทำกันแบบนี้มายาวนาน 2) ระดับเรียนรู้และลงมือทำ มีพื้นที่แห่งโอกาส เช่น เด็กไม่ค่อยสนใจงานบ้านถ้ามีฐานะดีก็มีคนใช้ทำแทน เด็กเหล่านี้ส่วนใหญ่จึงมี Portfolio มากมาย แต่ไม่สามารถเปลี่ยนพฤตินิสัยได้ แต่ถ้าพัฒนาจากกิจกรรมเป็นกิจวัตรได้จะดีมาก และ 3) ระดับเรียนรู้จากการซึมซาบ เรียนรู้จากการทำกันทุกคนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมตามหลักคุณธรรมสากล ไม่ใช่เพียงกิจวัตรแต่เป็นวิถีชีวิต ซึ่งตอนนี้สังคมไทยอ่อนแอในระดับที่ 3 นี้มาก ดังนั้นแต่ละคนและทุกสถาบันต้องก้าวผ่านการทำตามตัวชี้วัดไปสู่พฤติกรรมระดับวิถีชีวิตในการเป็นแบบอย่างที่ดี” รศ.ดร.นพ.สุริยเดว กล่าว.-สำนักข่าวไทย