กรุงเทพฯ 3 ต.ค.- มีการตั้งคำถามจากสังคม ทำไมการยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้งสามชนิด พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส จึงทำได้ยากทั้งที่มีหลายฝ่ายทั้งภาคประชาชนและภาครัฐเห็นด้วยกับการยกเลิก อะไรคือสาเหตุ ไปติดตามจากรายงาน
มีการขับเคลื่อนภาคประชาชนเพื่อให้ยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส มาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่หน่วยงานรัฐเสียงแตก มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และเมื่อเข้าสู่การตัดสินใจของคณะกรรมการวัตถุอันตราย มติยังให้จำกัดการใช้ และไม่ยกเลิกจนกว่าจะหาสารอื่นทดแทนได้
เรื่องนี้กลับมาจุดกระแสสังคมอีกครั้ง เมื่อรัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “มนัญญา ไทยเศรษฐ์” ประกาศชัดเจนสนับสนุนให้ยกเลิกใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด สั่งการกรมวิชาการเกษตรระงับใบอนุญาตและไม่ต่ออายุใบอนุญาตนำเข้าตั้งแต่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อทำให้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด หมดไปจากไทยภายในปีนี้ และเริ่มลุยตรวจสตอกตามโรงงานต่างๆ หลังเรียกดูข้อมูลการนำเข้าสารเคมีแล้ว มีข้อสังเกตหลายประเด็น อาทิ บางโรงงานไม่มีการนำเข้าปีนี้ แต่กลับมีสตอกสารเคมี และยังพบบางบริษัทนำเข้าสารเคมีดังกล่าว ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้รับยกเว้นภาษีเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และบริษัทกลับส่งออกไปขายต่างประเทศ ผลประโยชน์จึงไม่ตกที่เกษตรกร แต่ไปอยู่ที่เจ้าของบริษัท เนื่องจากเอกชนที่นำเข้าสารเคมีเหล่านี้ได้รับการยกเว้นทั้งภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม คิดเป็นมูลค่าภาษีที่รัฐต้องสูญเสียรวมกว่า 10,000 ล้านบาท/ปี
รมช.เกษตรฯ เตรียมนำข้อมูลเข้าหารือในการประชุมวันจันทร์ที่ 7 ตุลาคมนี้ และหากได้ผลสรุปว่าสารเคมีทั้ง 3 ชนิด สมควรกำหนดเป็นวัตถุอันตรายบัญชีที่ 4 คือ ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก และจำหน่าย ก็จะเร่งส่งให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่ระบุเงื่อนไขจะยกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด ก็ต่อเมื่อมีสารหรือวิธีการทดแทนสารเคมีดังกล่าว แต่เธอมองว่าสารเคมีทดแทนที่ไม่เป็นอันตรายนั้นไม่มี เนื่องจากสารเคมีทุกชนิดมีพิษทั้งสิ้น ดังนั้น การชะลอการยกเลิกออกไป โดยกำหนดให้ใช้โดยกำหนดมาตรการจำกัดการใช้ จึงยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน จึงควรร่วมกันหาแนวทางยกเลิกใช้สารเคมีอย่างเด็ดขาด
ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย ให้ข้อมูลว่า ธุรกิจสารเคมีวัตถุอันตรายมีผลประโยชน์มหาศาล แต่ละปีมีการนำเข้าหลายหมื่นล้านบาท ในปี 61 มีการนำเข้า 36,000 ล้านบาท เมื่อคิดเป็นมูลค่าการตลาดจะเพิ่มขึ้นอีก 2-3 เท่าตัว และเป็นการนำเข้าสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส มูลค่าเกือบ 20,000 ล้านบาท และเป็นการนำเข้าโดยเอกชนรายใหญ่ ขณะที่โครงสร้างกฎหมายไทยเอื้ออำนวย เนื่องจากมีกลุ่มผลประโยชน์เข้ามาเป็นคณะกรรมการวัตถุอันตราย
ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถียังตั้งข้อสังเกตอีกว่า ในต่างประเทศหน่วยงานที่เป็นผู้เสนอให้มีการยกเลิกการใช้สารเคมีอันตราย ซึ่งยกเลิกไปแล้วกว่า 50 ประเทศ เป็นหน่วยงานที่ควบคุมดูแลโดยตรงถึงผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แต่ในประเทศไทยกลับไม่เป็นอย่างนั้น.-สำนักข่าวไทย