ตลท. 3 ต.ค. – นักวิเคราะห์มองสงครามการค้าคู่ใหม่กดดันหุ้นไทย เชื่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปีดันจีดีพีไตรมาส 4 สดใส มองเป้า SET ปีนี้ 1,700 จุด
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า การปรับตัวลงของตลาดหุ้นสหรัฐจากความกังวลต่อตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ค่อนข้างชะลอตัว รวมถึงความกังวลต่อการเปิดสงครามการค้าครั้งใหม่ระหว่างสหรัฐและยุโรป หลังองค์การการค้าโลก (WTO) ลงมติเห็นชอบต่อข้อเรียกร้องของสหรัฐในการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากยุโรปวงเงิน 7,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสหรัฐประกาศจะเริ่มเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหภาพยุโรป (EU) วันที่ 18 ตุลาคมนี้ เป็นแรงกดดันต่อการลงทุนตลาดหุ้นภูมิภาคเอเชียเช้านี้ให้ปรับตัวลดลง และส่งผลมายังตลาดหุ้นไทย โดยมองว่าระดับความรุนแรงไม่มาก และไม่ส่งผลกระทบกับไทยระยะยาว
ขณะที่เศรษฐกิจไตรมาส 4/2562 มองว่ามีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น มองเป้า SET ปีนี้ 1,700 จุด ซึ่งขึ้นอยู่กับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลว่าจะออกมามากน้อยขนาดไหน ส่วนตัวมองว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ทยอยออกมา เช่น ชิมช้อปใช้ช่วงปลายปีนั้น มาถูกทางแล้ว เพราะต้องปลุกเศรษฐกิจปลายปีให้คึกคัก ทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนต่อในระดับภูมิภาค หากจะคาดหวังดึงให้นักลงทุนมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ภายในสิ้นปีนี้คงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก
ทั้งนี้ การปรับตัวลงของตลาดหุ้นสหรัฐยังกดดันต่อการลงทุนตลาดหุ้นภูมิภาคเอเชียเช้านี้ให้ปรับตัวลดลงด้วย และน่าจะส่งผลมายังตลาดหุ้นไทยในเช้านี้ รวมถึงราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ น่าจะยังกดดันต่อการลงทุนหุ้นกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี ขณะที่ตลาดยังจับตาช่วงใกล้ทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาส 3/2562 ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ซึ่งจะเริ่มจากกลุ่มสถาบันการเงิน แต่ภาพรวมยังมีทิศทางที่ไม่สดใส รวมถึงนักลงทุนต่างชาติและกองทุนในประเทศยังขายสุทธิต่อเนื่องในตลาดหุ้นไทย น่าจะถ่วงภาพรวมการลงทุน ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ทยอยออกมาก็ไม่ได้ส่งผลบวกต่อตลาดมากนัก
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนเดือนตุลาคม 2562 ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว (Neutral) เป็นเดือนที่ 2 เพิ่มขึ้น 8.64 % มาอยู่ที่ระดับ 111.62 ผลสำรวจพบว่านักลงทุนคาดหวังนโยบายภาครัฐ ภาวะเศรษฐกิจในประเทศ และการไหลเข้าออกของเงินทุนระหว่างประเทศ เป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นนักลงทุน ขณะที่ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศเป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด รองลงมา คือ ภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาคและผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน โดยนักลงทุนสนใจลงทุนหมวดพลังงานและสาธารณูปโภค (ENERG) และหมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ(TOURISM) มากที่สุด ขณะที่เห็นว่าหมวดธุรกิจเหล็ก (STEEL) หมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ (MEDIA) และหมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ (PETRO) ไม่น่าสนใจลงทุนมากที่สุด
สำหรับทิศทางการลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า ปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด คือ ความเชื่อมั่นปัจจัยในประเทศจากความคาดหวังนโยบายภาครัฐที่ทยอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากที่สุด รองลงมา คือ ภาวะเศรษฐกิจในประเทศและการไหลเข้าออกเงินทุน โดยนักลงทุนยังกังวลว่าสงครามการค้าสหรัฐและจีนจะยืดเยื้อ เป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด รองลงมา คือ ความกังวลเกี่ยวกับผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนและภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาค
ส่วนปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่ต้องติดตาม ได้แก่ ความคืบหน้าการเจรจาการค้าจีนกับสหรัฐช่วงต้นเดือนตุลาคม แนวโน้ม Brexit ที่มีกำหนดเส้นตายวันที่ 31 ตุลาคม 2562 นโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ธนาคารกลางของกลุ่มประเทศอียู ที่มีแนวโน้มผ่อนคลายทางการเงิน รวมถึงมาตรการ QE จากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศของภาครัฐ การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ และมุมมองอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้า . – สำนักข่าวไทย