ตลท. 2 ต.ค. – โพลนักวิเคราะห์ลดเป้าหมายหุ้นไทยปีนี้เหลือ 1,677 จุด พร้อมหั่นกำไรบริษัทจดทะเบียนเหลือโตร้อยละ 3.29 กระทบเงินทุนต่างชาติไหลออก
นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน กล่าวว่า ผลสำรวจความเห็นนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนต่อทิศทางดัชนีหุ้นไทยปี 2562 ว่า นักวิเคราะห์ได้ปรับลดเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยสิ้นปี 2562 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1,677 จุด ลดลง 78 จุด จากการสำรวจครั้งก่อนที่คาดการณ์ไว้ที่ 1,755 จุด โดยคาดจุดต่ำสุดที่ 1,590 จุด และ สูงสุดที่ 1,707 จุด
นอกจากนี้ ได้ปรับลดอัตราการเติบโตกำไรสุทธิต่อหุ้นลง เป็นเติบโตร้อยละ 3.29 จากเดิมร้อยละ 7 หรือคิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้นที่ 99.68 บาท โดยสาเหตุมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว การส่งออกที่ติดลบ กระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งในช่วงที่เหลือของปีนี้อีก 3 เดือน โอกาสที่กำไรบริษัทจดทะเบียนจะฟื้นตัวค่อนข้างยาก ซึ่งคาดหวังว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะมีผลช่วยให้เศรษฐกิจและการลงทุนปี 2563 ฟื้นตัวได้จริง
ส่วนเงินลงทุนต่างชาติที่ปัจจุบันไหลออกจากตลาดหุ้นไทยนั้น นายสมบัติ กล่าวว่า เนื่องจากกำไรของบริษัทจดทะเบียนไทยยังไม่ฟื้นตัว ทำให้เงินทุนไหลออกไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า อย่างไรก็ตาม แม้จะปรับลดกำไรของบริษัทจดทะเบียนลง แต่พื้นฐานตลาดหุ้นไทยยังแข็งแกร่ง บริษัทจดทะเบียนยังมีการจ่ายเงินปันผลในอัตราที่น่าพอใจกว่าร้อยละ 3
นายสมบัติ กล่าวว่า สำหรับปัจจัยที่มีผลบวกต่อดัชนีราคาหุ้นไทยไตรมาส 4 ปี 2562 คือ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา (เฟด) ที่มีแนวโน้มลดลง ทิศทางดอกเบี้ยในประเทศ ที่คาดว่าคณะกรรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดดอกเบี้ยลงอีกร้อยละ 0.25 ในปีนี้ ส่วนปัจจัยที่จะส่งผลด้านลบ ได้แก่ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจต่างประเทศ รวมถึงสงครามการค้า รองลงมา คือ ปัจจัยด้านการเมืองในต่างประเทศ และผลประกอบการของ บจ.ไทย
ส่วนหุ้นเด่นที่นักวิเคราะห์แนะนำ คือ 1. ADVANC มีปัจจัยสนับสนุนจากภาวการณ์แข่งขันผ่อนคลายลง หนุนรายได้สูงขึ้น ตลอดจนการระงับข้อพิพาทกับ TOT ช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายปีละ 800 ล้านบาท นอกจากนั้น ADVANC มีความสามารถการแข่งขันสูง ฐานะการเงินแกร่ง มีปันผลดี 2. BJC โดยมีแนวโน้มกำไรที่ดีต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลังจากการขับเคลื่อนของธุรกิจบรรจุภัณฑ์ การขยายสาขา Big C เชิงรุก และอัตรากำไรที่ดีขึ้นต่อเนื่อง เป็นหนึ่งในหุ้นค้าปลีกที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากมาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล 3.CPALL โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคฟื้นตัว และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 4. ERW มีประเด็นสนับสนุนจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศเริ่มฟื้นตัวบ้างแล้ว และได้ผลบวกจากมาตรการภาครัฐกระตุ้นการท่องเที่ยวและการบริโภค 5.WHA มีปัจจัยสนับสนุน คือ เริ่มเห็นการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะจากจีน ซึ่งได้รับผลกระทบจากกำแพงภาษีที่ถูกเรียกเก็บจากประทศสหรัฐในอัตราที่สูง ทำให้มีการย้ายฐานการผลิตออกไปในประเทศในภูมิภาคอาเซียนรวมถึงไทยมากขึ้น.- สำนักข่าวไทย