รัฐสภา 15 ธ.ค.- ภาคประชาชนยื่น 3 แสนรายชื่อค้านเนื้อหาร่างพ.ร.บ.คอมฯ จี้ให้ทบทวนการให้อำนาจคณะกรรมการกลั่นกรองที่มาจากการแต่งตั้งของรัฐมนตรีที่ให้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อสั่งปิดหรือบล็อคเว็บไซต์ที่กระทบต่อความมั่นคงได้
นางสฤณี อาชวานันทกุล พร้อมด้วยนายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ตัวแทนเครือข่ายพลเมืองเน็ตและน.ส.ปิยนุช โครตสาร องค์กรนิรโทษกรรมสากล หรือ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เดินทางมายังอาคารรัฐสภา ยื่นรายชื่อประชาชน กว่า 300,000 รายชื่อ ที่ร่วมรณรงค์ผ่าน เว็บไซต์ change.org “ ต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยมีนางวรารัตน์ อติแพทย์ เลขาธิการวุฒิสภาเป็นผู้รับเรื่อง
นางสฤณี กล่าวว่า ขอให้ทบทวนและแก้ไขเนื้อหาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ใหม่ เนื่องจากร่างที่กรรมาธิการแก้ไข ยังคงให้อำนาจคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ 5 คน ที่มาจากการแต่งตั้งของรัฐมนตรีกระทรวงดิจิตทัล สามารถยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อสั่งปิดหรือบล็อคเว็บไซต์ที่กระทบต่อความมั่นคง รวมถึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี แม้ไม่มีเนื้อหาผิดกฎหมายใด ๆ ก็ตาม
“ที่สำคัญในมาตรา 15 ยังกำหนดผู้ให้บริการเว็บไซต์ต้องระงับข้อมูลภายใน 3 วัน หลังได้รับแจ้ง ไม่เช่นนั้นจะต้องรับโทษเท่ากับผู้โพสต์ แต่ขั้นตอนนี้ไม่มีการตรวจสอบจากศาล ผู้แจ้งจะเป็นใครก็ได้ จึงถือเป็นการเปิดช่องให้ปิดเว็บไซต์ได้โดยไม่ต้องรอคำสั่งศาล และแม้กรรมาธิการแก้ไขมาตรา 14 เรื่องการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จแล้ว แต่ยังไม่มีความชัดเจน และมีบางถ้อยคำปัญหาในการตีความ เช่น ความผิดฐานโพสข้อมูลเท็จที่กระทบต่อความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ เรื่องการนำเข้าข้อมูลเท็จก็เป็นเนื้อหาใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่กลับไม่ได้เขียนนิยามกำหนดไว้ จึงอาจถูกตีความให้เกิดการกลั่นแกล้ง และคุกคามสิทธิประชาชนได้ในอนาคต” นางสฤณี กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศโดยรอบอาคารรัฐสภา พ.ต.อ.อุทัย กวินเดชาธร รองผู้บัญชาการนำตำรวจนครบาล 1 เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งในและนอกเครื่องแบบมาคอยดูแลรักษาสงบเรียบร้อย หลังได้รับรายงานว่ามีกลุ่มมวลชนเตรียมเคลื่อนไหวคัดค้านการพิจารณาร่างพ.ร.บ.คอมฯ
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ สนช.ได้บรรจุวาระการพิจารณาร่างพ.ร.บ.คอม ฯ ในวันนี้ แต่ล่าสุดที่ประชุมวิปมีมติเสนอเลื่อนวาระไปเป็นวันพรุ่งนี้(16 ธ.ค.)เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกได้อภิปรายอย่างเต็มที รวมให้กรรมาธิการชี้แจงเนื้อหาที่ปรับแก้ไขให้เกิดความเข้าที่ตรงกัน ซึ่งเชื่อว่าการพิจารณาในวาระ 2-3 จะผ่านพ้นไปได้ด้วยดี เนื่องจากเป็นการปรับแก้กฎหมายเดิม ไม่ได้เขียนหลักการขึ้นมาใหม่ รวมทั้งไม่ได้มีเนื้อหาปิดกั้นหรือลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน และยังมีเนื้อหาที่แตกต่างจากร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ.-สำนักข่าวไทย