กรุงเทพฯ 25 ก.ย. – กสิกรไทยเตรียมหั่นเป้าจีดีพี เหลือ 2.7 – 2.9 % แนะใช้มาตรการคลังนำกระตุ้นเศรษฐกิจ
นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสสุดท้ายมีแนวโน้มชะลอตัวจากปัจจัยในประเทศและปัจจัยต่างประเทศ โดยการส่งออกของไทยถูกกระทบจากนโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐผ่านห่วงโซ่การผลิตของจีนและอุปสงค์ในตลาดโลกที่ชะลอลง การลงทุนภาคเอกชนในช่วงที่ผ่านมาชะลอตามการส่งออกที่หดตัว ส่วนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นของภาครัฐอย่างชิมช้อปใช้จะมีผลจำกัดช่วยประคับประคองเศรษฐกิจระยะสั้น เพราะผู้บริโภคแค่เลื่อนวันใช้จ่ายเท่านั้น และกระตุ้นการบริโภคไตรมาสสุดท้าย ขณะที่การบริโภคยังขยายตัวจำกัด จากปัจจัยกดดันจากหนี้ครัวเรือนระดับสูง
ทั้งนี้ ยอมรับว่าตัวเลขประมาณการจีดีพีเติบโต เดิมที่ 3.1% นั้น คงเป็นได้ยาก สิ้นเดือนนี้จะปรับตัวเลขจีดีพีลง โดยคาดอยู่ในกรอบ 2.7 -2.9% ขณะที่ภาคการส่งออกคาดติดลบ จากเดิม 0% ซึ่งตัวเลขส่งออก 8 เดือน -2% ไปแล้ว
สำหรับเศรษฐกิจโลกยังมีทิศทางอ่อนแอต่อ เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับความปั่นป่วนทางการเมืองในสหรัฐ หลังจากประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเปิดฉากการไต่สวน เพื่อถอดถอนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ออกจากตำแหน่ง ส่งผลกระทบให้การเจรจาการค้าระหว่างจีนสหรัฐมีแนวโน้มยืดเยื้อออกไปอีก กดดันภาคการผลิตอุตสาหกรรมและการส่งออกทั่วโลก แม้การบริโภคภาคเอกชนในประเทศเศรษฐกิจหลักยังขยายตัวดี และการจ้างงานจะเพิ่มขึ้นก็ตาม
ส่วนทิศทางค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง จากความเสี่ยงเศรษฐกิจโลก โดยแนวโน้มค่าเงินไม่น่าจะหลุดต่ำกว่า 30.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และคงเป็นไปได้ยากที่จะอ่อนไปกว่า 31.00 บาทต่อ ดอลลาร์สหรัฐ โดยธนาคารกสิกรไทยยังเป้าหมายค่าเงินบาทที่ 30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ด้านเหตุผลสำคัญที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% นั้น มองว่าเป็นไปตามที่คาดไว้ เพราะการลดดอกเบี้ยครั้งที่แล้ว ไม่ได้ส่งผลต่อค่าเงินบาทให้อ่อนลงแต่อย่างใด ขณะที่มาตรการสกัดการถือบอนด์ ระยะที่แบงก์ชาติออกมา เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ยอดการถือครองพันธบัตรระยะสั้นของต่างชาติลดลงเหลือ 61,000 ล้านบาท จากเดิม 107,000 ล้านบาท แต่กลับมีการถือครองพันธบัตรระยะยาวเพิ่มขึ้นเกือบ 900,000 ล้านบาท ทำให้เงินบาทยังแข็งค่า หากยังใช้การลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก ก็ไม่ได้ช่วยให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงแต่อย่างใด . – สำนักข่าวไทย