ทำเนียบฯ 23 ก.ย. – รัฐบาลขีดเส้นกลุ่มซีพีต้องมาลงนามเดินหน้าก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ภายใน 15 ต.ค.นี้ ไม่งั้นโดนอ่วม ริบหลักประกัน แบล็คลิสท์ และชดเชยส่วนต่างหากมูลค่างานของเอกชนรายที่ 2 ที่ต้องมาดำเนินการแทนสูงกว่าที่ซีพีเคยเสนอ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในช่วงบ่ายที่ผ่านมาได้มีการประชุมเพื่อพิจารณากรอบการหาข้อสรุปในการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน มีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมหารือแนวทางเร่งรัดโครงการหลังจากช่วงที่ผ่านมาการเจรจาประเด็นการส่งมอบพื้นที่และประเด็นอื่น ๆ ส่งผลให้เกิดความล่าช้าอย่างมาก
นายศักดิ์สยาม เปิดเผยว่า มติที่ประชุมวันนี้มอบหมายให้คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนในโครงการดังกล่าวประชุม 27 กันยายนนี้ เพื่อสรุปความคืบหน้าและผลเจรจาทั้งหมดและให้ทำหนังสือแจ้งให้เอกชนผู้ชนะการประมูล หรือกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร กลุ่ม CPH มาลงนามในสัญญาวันที่ 15 ตุลาคม 2562 รวมทั้งที่ประชุมยังได้หารือถึงแนวทาง หากเอกชนไม่มาลงนามตามกรอบเวลาดังกล่าวจะเข้าสู่ขั้นตอนดำเนินการต่าง ๆ เช่น ริบหลักประกันซอง การพิจารณาให้เอกชนดังกล่าวถูกพิจารณาให้เป็นผู้ทิ้งงานตามระเบียบของทางราชการหรือแบล็คลิส และหากสถานการณ์เป็นอย่างนั้น คณะกรรมการคัดเลือกจะเชิญผู้ยื่นข้อเสนอรายที่ 2 คือ กลุ่มบีทีเอสมาเจรจา
ทั้งนี้ รมว.คมนาคมยืนยันว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามเงื่อนเวลารักษาผลประโยชน์ภาครัฐ เนื่องจากวันที่ 7 พฤศจิกายนนี้ การดำเนินโครงการจะครบกำหนดเวลาที่ระบุในเงื่อนไขการประกวดราคา ที่กำหนดให้เอกชนยืนราคาในช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยเกรงว่าหากเลยช่วงเวลาดังกล่าวไป และไม่เกิดการลงนามขึ้น จะกระทบกับเงื่อนไขมูลค่างานและสุดท้ายจะกลายเป็นความผิดของภาครัฐ รวมทั้งการเจรจาเพื่อเกิดการลงนามก็ล่าช้ามาระยะหนึ่งแล้ว
นอกจากนี้ กรณีภาคเอกชนรายที่ 2 มาดำเนินโครงการต่อในอนาคต หากพบว่ามูลค่างานของเอกชนรายที่ 2 สูงกว่ามูลค่างานเอกชนรายแรก เอกชนที่ทิ้งงานต้องรับผิดชอบส่วนต่างของมูลค่างานที่สูงขึ้น ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดยืนยันว่าภาครัฐยึดตามกรอบของ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ทั่วไป ซึ่งทุกฝ่ายต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต
ส่วนคำถามระบุว่าการที่กลุ่มกิจการร่วมค้าซีพียังไม่มาลงนามมีความวิตกเรื่องการส่งมอบพื้นที่ของ รฟท. ซึ่งปัจจุบันมีปัญหาการบุกรุกและติดสัญญาเช่าจะทำให้โครงการล่าช้า รวมทั้งจัดหาแหล่งทุนจากกลุ่มพันธมิตรนั้น นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ประเด็นการส่งมอบพื้นที่ล่าช้านั้น หนังสือเงื่อนไขการหาเอกชนลงทุน (RFP) ระบุไว้ชัดเจนว่าหากกรณีพื้นที่ใดส่งมอบไม่ได้ ก็อยู่ในขอบเขตขยายระยะเวลาการก่อสร้างได้ รวมทั้งการก่อสร้างที่มีกรอบระยะเวลา 5 ปี ก็สามารถเริ่มก่อสร้างในพื้นที่พร้อมก่อนได้ ไม่ต้องก่อสร้างจากเส้นทางจนครบ ดังนั้น การกังวลเรื่องการส่งมอบพื้นที่ จึงไม่ใช่ประเด็นนำมาอ้างในการไม่ลงนามสัญญาได้
นายศักดิ์สยาม ย้ำว่าการดำเนินโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบินนี้ลงทุนโครงการสำคัญในพื้นที่อีอีซี ยืนยันว่ากระทรวงคมนาคมและรัฐบาลจะดูและให้การดำเนินการประเทศต้องได้ประโยชน์สูงสุดจากการพัฒนาโครงการดังกล่าว .-สำนักข่าวไทย