จับแล้ว ! จระเข้หลุดจากฟาร์มสิงห์บุรี

กรุงเทพฯ 12 ก.ย. – ชาวบ้านผวาพบจระเข้บึงหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลพักทัน อำเภอพักทัน จังหวัดสิงห์บุรี ขนาดยาว 2.50 เมตร ชุดปฏิบัติการไกรทองรุดจับก่อนที่จะเกิดอันตรายต่อประชาชน


นายถาวร ทันใจ ผู้อำนวยการกองตรวจการประมง กรมประมง กล่าวว่า ได้รับแจ้งจากประมงจังหวัดสิงห์บุรี ว่า ชาวบ้านหมู่ 2 ตำบลพักทัน อำเภอบางระจัน พบจระเข้ตัวใหญ่ในบึงหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลพักทัน ขณะทาง อบต.กำลังลอกวัชพืชในแหล่งน้ำดังกล่าววันที่ 9 กันยายน ชาวบ้านหวั่นวิตกมากเกรงจะได้รับอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กเล็ก กรมประมงจึงเร่งส่งเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการไกรทองจากจังหวัดนครสวรรค์ไปตรวจสอบและจับได้ตอนประมาณ 02.30 น.วันที่ 10 กันยายน จระเข้ที่จับได้เป็นเพศผู้ขนาด 2.50 เมตร มีสภาพสมบูรณ์ ประมงจังหวัดสิงห์บุรีได้ทำหนังสือส่งไปเก็บรักษาไว้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดนครสวรรค์แล้ว


นายถาวร คาดว่า จระเข้ตัวนี้หลุดออกมาจากฟาร์ม แต่ไม่มีผู้ใดรับเป็นเจ้าของ เนื่องจากเกรงจะมีความผิด จระเข้เป็นสัตว์ควบคุมผู้เพาะเลี้ยงต้องได้รับอนุญาตจากกรมประมง ซึ่งจะต้องป้องกันไม่ให้หลุดออกมาจากสถานที่เพาะเลี้ยง ไม่เช่นนั้นจะมีความผิดตาม พ.ร.ก.ประมง สำหรับเรื่องที่เป็นห่วงมากขณะนี้ คือ พื้นที่ที่เกิดอุทกภัยส่วนใหญ่มีฟาร์มเลี้ยงจระเข้ หากทางฟาร์มไม่เสริมคันบ่อไม่ใช้ตะแกรงปิดปากบ่อ และไม่ปิดทางระบายน้ำอาจทำให้มีจระเข้หลุดรอดออกมาได้ สำหรับการเฝ้าระวังและให้ฟาร์มจระเข้เตรียมพร้อมทำมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม รวมถึงการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการไกรทองเมื่อเกิดอุทกภัยจึงกำชับเจ้าหน้าที่ให้เฝ้าระวังมากขึ้นเป็นพิเศษ นอกจากนี้ ให้ประมงจังหวัดทุกจังหวัดหมั่นไปตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของบ่อเลี้ยงทุกฟาร์ม พร้อมส่งหนังสือเตือนและคำแนะนำในการเฝ้าระวังไม่ให้จระเข้หลุด 

สำหรับการทำงานของชุดปฏิบัติการไกรทองจะมีเจ้าหน้าที่ 5-6 คน โดยได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับวิธีคล้องจับ รวบตัว มัดปาก โดยต้องระวังไม่ให้ถูกหางฟาด เนื่องจากหากเป็นจระเข้ตัวใหญ่จะมีแรงมากทำให้บาดเจ็บได้ รวมทั้งหากจระเข้งับโดยธรรมชาติแล้วมันจะสะบัด ทำให้เกิดบาดแผลฉกรรจ์ เจ้าหน้าที่ยังต้องประเมินสถานการณ์ก่อนเข้าจับ เช่น หากจับเวลากลางวันจระเข้จะตื่นตัวต้องระมัดระวังกว่าตอนกลางคืน ซึ่งจระเข้มองเห็นไม่ชัด ฝึกการดูพฤติกรรมว่าดุมากน้อยแค่ไหน หากเป็นช่วงฤดูผสมพันธุ์จะดุมากขึ้น 


ทั้งนี้ ปีนี้กรมประมงอบรมเจ้าหน้าที่เป็นชุดปฏิบัติการไกรทอง 30 คน ซึ่งจะปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่อบรมปีก่อนรวม 80 นาย เครือข่ายไกรทองเตรียมพร้อมเฝ้าค้นหาและจับจระเข้หากได้รับแจ้งว่า พบจระเข้ในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยศูนย์ชุดปฏิบัติการไกรทองมี 8 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก กาญจนบุรี พระนครศรีอยุธยา ระยอง นครราชสีมา สงขลา สุราษฎร์ธานี และกระบี่ นอกจากนี้ ยังมี 43 เครือข่ายย่อยซึ่งสามารถปฏิบัติงานได้ครอบคลุมทั้งประเทศ ขอให้ประชาชนอย่าหวาดวิตก นอกจากนี้ หากพบเห็นจระเข้ในแหล่งน้ำธรรมชาติอย่าจับเองให้แจ้งเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น เพื่อประสานมายังประมงจังหวัดทันทีจะได้ส่งชุดปฏิบัติการไกรทองเข้าไปจับ เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดต่อประชาชน

ด้านนายวิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า มีประชาชนจำนวนมากสอบถามเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยในการดูแลไม่ให้มีจระเข้จากฟาร์มหลุดรอดลงแหล่งน้ำธรรมชาติ  โดยเฉพาะพื้นที่เกิดอุทกภัย ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบการการเพาะเลี้ยงจระเข้ 1,067 ฟาร์ม สำหรับพื้นที่น้ำท่วม 19 จังหวัด มีฟาร์มเพาะเลี้ยงจระเข้ 284 ฟาร์ม ซึ่งได้กำชับเจ้าหน้าที่ให้เฝ้าระวังอย่างเข้มงวดและเข้าตรวจสอบฟาร์มต่าง ๆ ถี่ขึ้น

ทั้งนี้ ขอย้ำเตือนให้ผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงจระเข้เพิ่มความระมัดระวังในการควบคุม ดูแล จระเข้ในครอบครองให้มากขึ้นเป็นพิเศษและปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมประมง โดยตรวจสอบฟาร์มโดยเฉพาะบ่อเลี้ยงจระเข้ให้มีความแข็งแรงปลอดภัยอยู่เสมอ คัดแยกจระเข้ที่เลี้ยงแต่ละบ่อให้มีขนาดเดียวกัน เพื่อป้องกันไม่ให้จระเข้ที่มีขนาดเล็กกว่าหลุดรอดลงท่อน้ำทิ้ง กรณีที่มีการทำความสะอาดบ่อเลี้ยง ปล่อยจระเข้ลงเลี้ยงในอัตราที่ไม่หนาแน่นจนเกินไป เพื่อไม่ให้จระเข้เกิดความเครียด ซึ่งอาจจะทำให้จระเข้ป่วยและเพื่อความสะดวกในการตรวจสอบจำนวนจระเข้ หากฟาร์มเพาะเลี้ยงจระเข้รายใดมีความเสี่ยงต่อการหลุดรอดของจระเข้ ขอให้เจ้าของฟาร์มเคลื่อนย้ายไปอยู่ในที่ปลอดภัย และทำการแก้ไขปรับปรุงฟาร์มให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยต่อการเพาะเลี้ยงจับจระเข้ที่ได้ขนาดออกขาย เพื่อลดปริมาณความหนาแน่นของจระเข้ในบ่อเลี้ยงและให้ผู้ประกอบการติดตามข่าวสารด้านสถานการณ์น้ำจากทางราชการอย่างใกล้ชิดและคำแนะนำในการควบคุมดูแลจระเข้กรณีฟาร์มประสบภัยน้ำท่วมโดยปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด

“ประชาชนที่พบเห็นจระเข้ในแหล่งน้ำสาธารณะหรือแหล่งน้ำธรรมชาติ โปรดแจ้งสำนักงานประมงจังหวัดในพื้นที่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือติดต่อกรมประมง ได้ที่โทรศัพท์หมายเลข 0-2562-0600 หรือหากเกษตรกรประสบปัญหาต้องการความช่วยเหลือต่าง ๆ สามารถติดต่อขอรับคำแนะนำหรือขอความช่วยเหลือได้ที่สำนักงานประมงอำเภอ สำนักงานประมงจังหวัด และศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงในพื้นที่ หรือกองโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและกิจกรรมพิเศษกลุ่มช่วยเหลือเกษตรกรและชาวประมง กรมประมง โทรศัพท์หมายเลข 0-2558-0218และ0-256-4740” รองอธิบดีกรมประมง กล่าว.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

เลือกตั้งนายก อบจ.อุบลฯ “กานต์” ส่อเข้าป้าย

เลือกตั้งนายก อบจ.อุบลราชธานี “กานต์” หมายเลข 1 จากเพื่อไทย ส่อเข้าป้าย ด้าน ปชน. แถลงยอมรับยังไม่เป็นที่ไว้วางใจ ส่วนอุตรดิตถ์ “ชัยศิริ” อดีตนายก อบจ. ส่อเข้าวิน

วัยรุ่นซิ่งเบนซ์เสียหลักพุ่งเหินฟ้าคารถ 6 ล้อ

รอดตายปาฏิหาริย์! วัยรุ่นซิ่งเบนซ์เสียหลัก ก่อนพุ่งเหินฟ้าติดคาบนรถ 6 ล้อ พลเมืองดีเข้าช่วยเหลือออกมาจากรถ ปลอดภัย

กกต.สั่งเอาผิดอาญา “ชวาล” สส.ปชน. ยื่นบัญชีใช้จ่ายเท็จ

กกต.สั่งดำเนินคดีอาญา “ชวาล” สส.ปชน. ยื่นบัญชีค่าใช้จ่ายเลือกตั้งไม่ตรงความเป็นจริง โทษหนักทั้งจำคุก-ตัดสิทธิ 5 ปี

ข่าวแนะนำ

“ภูมิธรรม” สั่งปิดชายแดนไทย-เมียนมา จ.ตาก 1 เดือน สกัดอหิวาตกโรค

“ภูมิธรรม” สั่งปิดชายแดนไทย-เมียนมา จ.ตาก 1 เดือน สกัดอหิวาตกโรค ไม่ให้ระบาดในไทย พร้อมยกมาตรรักษาสุขภาวะในพื้นที่อย่างเข้มข้น

ฉายารัฐบาลปี67

สื่อทำเนียบฯ ตั้งฉายา ปี 67 “รัฐบาล(พ่อ)เลี้ยง”

สื่อทำเนียบฯ ตั้งฉายา ปี67 “รัฐบาล(พ่อ)เลี้ยง” ฉายานายกฯ “แพทองโพย” ด้าน 7 รัฐมนตรีติดโผ “บิ๊กอ้วน-อนุทิน-ทวี” พ่วง 3 รัฐมนตรีโลกลืม ส่วนวาทะแห่งปี “สามีเป็นคนใต้”

เลือกตั้ง อบจ.อุบลฯ

“กานต์ กัลป์ตินันท์” ชนะเลือกตั้งนายก อบจ.อุบลฯ

“กานต์ กัลป์ตินันท์” ชนะเลือกตั้งนายก อบจ.อุบลราชธานี พร้อมขอบคุณคนเสื้อแดง และนายทักษิณ ชินวัตร ที่ช่วยผลักดัน