กรุงเทพฯ 10 ก.ย. – กรมศุลกากรยอมรับจับกุมลูกเรือขนสินค้าแบรนด์เนมแต่ละปีได้เป็นระยะ ขณะที่ 11 เดือนปีนี้ จับกุมสินค้าเป็นมูลค่ากว่า 90 ล้านบาท มีทิศทางเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา
นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมศุลกากรในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยถึงการจับคุมลูกเรือสายการบินลักลอบขนสินค้าแบรนด์เนมเพื่อมาจำหน่าย ว่า ที่ผ่านมากรมฯ ร่วมกับสายการบินอย่างไม่เป็นทางการในการสืบทราบเบาะแสของผู้กระทำผิดลักษณะดังกล่าวและสามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้เป็นระยะ ยืนยันว่าการตรวจสอบลูกเรือสายการบินมีการจัดช่องสีเขียวและแดงให้ลูกเรือสำแดงว่ามีสินค้าต้องเสียภาษีหรือไม่ เช่นเดียวกับผู้โดยสารทั่วไป นอกจากนี้ ไตรมาส 1 ปี 2563 จะมีความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเครื่องเอ็กซเรย์ค่อมสายพาน 23 เครื่อง เริ่มใช้ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เชื่อว่าการตรวจสอบจับกุมการลักลอบขนสินค้าไม่เสียภาษีเข้มงวดมากขึ้น
ขณะที่นายธาดา ชุมไชโย ผู้อำนวยการ กองสืบสวนและปราบปราม กรมศุลกากร ระบุว่าปีงบประมาณ 2561 มียอดจับกุมสิน้าแบรนด์เนมหลีกเลี่ยงภาษีประเมินเป็นมูลค่า 60 ล้านบาท ขณะที่ปีงบประมาณ 2562 ในช่วง 11 เดือนมียอดจับกุมสินค้าแบรนด์เนมเลี่ยงภาษีประมาณ 90 ล้านบาท ที่ผ่านมาการชี้เบาะแสจับกุมกรมฯ มีรางวัลนำจับมอบให้ผู้ชี้เบาะแสสัดส่วนร้อยละ 20 ของมูลค่าที่นำมาประมูลขายได้ สินค้าที่มีการจับกุมทั้งหมดจะนำเข้ากระบวนการประมูล ส่วนการตรวจสอบและจับกุมผู้ลักลอบขนสินค้าหนีภาษียอมรับว่าปัจจุบันยังใช้ระบบบริหารความเสี่ยงสุ่มตรวจจับ โดยยังไม่มีการตรวจค้น 100 % เนื่องจากกระทบการเดินทาง
ทั้งนี้ เดือนสิงหาคม 2562 กรมศุลกากรพบการกระทำความผิด 2,869 คดี คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 252,728,213 บาท เป็นจำนวนคดีจากการลักลอบร้อยละ 18.4 เป็นจำนวนคดีจากการหลีกเลี่ยงร้อยละ 81.6 โดยมีมูลค่าจากการกระทำความผิดเป็นกรณีลักลอบถึงร้อยละ 55.3 สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าการลักลอบนำเข้าสูงสุดเดือนสิงหาคม ปีงบประมาณ 2562 สามอันดับแรก ได้แก่ ยาเสพติดประเภท เคตามีน ยาเสพติดประเภท โคคาอีน และยาเสพติดประเภท เมทแอมเฟตามีน และสินค้าที่มีมูลค่าการลักลอบส่งออกสูงสุดเดือนสิงหาคม ปีงบประมาณ 2562 สามอันดับแรก ได้แก่ยาเสพติดประเภท เมทแอมเฟตามีน กระบือมีชีวิต และบุหรี่
ด้านของการจับกุมผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องเดือนสิงหาคม 2562 นั้น มีการตรวจพบการกระทำผิดที่น่าสนใจ อาทิ ผู้ลักลอบนำยาเสพติดเข้ามาในราชอาณาจักร โดยซุกซ่อนและกลืนไว้ในร่างกาย การตรวจยึดนกเหยี่ยวขาว ซึ่งจัดเป็นวงศ์นกในบัญชี 2 ของอนุสัญญาไซเตส (CITES) และนกกินปลีสีแดง นกเขียวคราม นกเขียวก้านตองใหญ่ และนกโนรี ซึ่งทั้งหมดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535.-สำนักข่าวไทย