นนทบุรี 2 ก.ย. – ราคาสินค้ากลุ่มอาหารสด โดยเฉพาะข้าวเจ้าและข้าวเหนียว รวมถึงผักผลไม้ราคาสูงขึ้น ส่งผลให้เงินเฟ้อเดือนสิงหาคมยังสูงขึ้นร้อยละ 0.52 แต่ชะลอลงจากเดือนที่ผ่านมาตามราคาพลังงานที่ยังหดตัวต่อเนื่อง
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้รายงานสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการภาพรวมของเดือนสิงหาคม 2562 ที่นำมาคำนวณ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรือ อัตราเงินเฟ้อ จำนวน 422 รายการ มีสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น 221 รายการ โดยเฉพาะข้าวเหนียว สูงขึ้นร้อยละ 27.3 มะนาว สูงขึ้นกว่าร้อยละ 70 เนื้อหมู สูงขึ้นร้อยละ 10.2 และพริกสด สูงขึ้นร้อยละ 22 รวมถึงค่าโดยสารรถสาธารณะที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่สินค้าที่ราคาลดลง มี 112 รายการ เช่น น้ำมันพืช ตามราคาปาล์มที่ลดลง และน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนสินค้าที่ทรงตัว มี 89 รายการ
ทั้งนี้ ในหมวดสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 2.63 จากกลุ่มสินค้าอาหารสด จากปริมาณผลผลิตที่ออกน้อย แต่สินค้าหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 0.67 ตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภทที่ลดลงร้อยละ 8.15 ยกเว้นก๊าซ NGV และ LPG ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาขยายตัวร้อยละ 0.52 แต่ถือว่าชะลอลงค่อนข้างมากจากเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ที่สูงขึ้นร้อยละ 0.98
ทำให้เฉลี่ยในช่วง 8 เดือนแรกยังสูงขึ้นร้อยละ 0.87 แม้จะอยู่ในกรอบคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปีร้อยละ 0.7-1.3 แต่คาดว่าปีนี้น่าจะขยายตัวไม่ถึงร้อยละ 1 หรืออยู่ที่ร้อยละ 0.8-0.9 ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลังคาดว่าจะโตที่ร้อยละ 1 จากการลดลงต่อเนื่องของราคาพลังงานและราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคค่อนข้างทรงตัว โดยยังมีสัญญาณการชะลอตัวของความต้องการบริโภค หรือประชาชนระมัดระวังการจับจ่าย แต่ยังไม่น่ากังวลว่าจะเกิดภาวะเงินฝืด เนื่องจากเป็นการลดลงจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงด้วย
อย่างไรก็ตาม คงจะต้องติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงครึ่งหลังปีนี้ ไม่ว่าการประกันรายได้เกษตรกร และการเติมเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่จะกระตุ้นให้การบริโภค ทั้งทางตรงและทางอ้อมส่งผลให้เศรษฐกิจเคลื่อนไหวดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ได้มากน้อยแค่ไหน.-สำนักข่าวไทย