วอชิงตัน 23 เม.ย. – กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ปรับลดอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกลง โดยคาดหมายว่าสหรัฐจะได้รับผลกระทบหนักที่สุดในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว จากความไม่แน่นอนจากมาตรการภาษีของตนเอง และความขัดแย้งทางการค้าที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น
ไอเอ็มเอฟ เผยแพร่รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก World Economic Outlook ฉบับล่าสุดเมื่อวานนี้ ปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกลงอย่างมีนัยสำคัญ ลงอยู่ที่ร้อยละ 2.8 ในปี 2568 ลดลงร้อยละ 0.5 จากการคาดการณ์ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา และมีแนวโน้มจะชะลอตัวลงต่อไปเหลือร้อยละ 3 ในปี 2569 โดยอ้างความขัดแย้งทางการค้าที่ทวีความรุนแรง และความไม่แน่นอนของนโยบายที่เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่สหรัฐ ประกาศมาตรการภาษีศุลกากรครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 2 เมษายน ซึ่งทำให้ภาษีสินค้านำเข้าทั่วโลกพุ่งสูงในรอบศตวรรษ ซึ่งรายงานระบุว่าเป็น “แรงกระแทกเชิงลบครั้งใหญ่” ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลก
เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้ว เผชิญกับอุปสรรคหลายประการ โดยคาดว่าการเติบโตโดยรวมจะอยู่ที่เพียงร้อยละ 1.4 ในปี 2568 และร้อยละ 1.5 ในปี 2569 สหรัฐฯ เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุด โดยคาดการณ์ปี 2568 ลดลงร้อยละ 0.9 เหลือร้อยละ 1.8 เนื่องจากความไม่แน่นอนของนโยบายที่เพิ่มขึ้น ความตึงเครียดทางการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้น และอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนตัวลง ส่วนการคาดการณ์ของเขตยูโรลดลงร้อยละ 0.2 เหลือร้อยละ 0.8
ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา แม้ว่าจะขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งกว่า อยู่ที่ร้อยละ 3.7 ในปี 2568 และร้อยละ 3.9 ในปี 2569 ยังคงลดลงจากการประเมินครั้งก่อนหน้า ไอเอ็มเอฟให้เหตุผลว่า การชะลอตัวส่วนใหญ่เกิดจากผลกระทบจากมาตรการการค้าของสหรัฐ ส่วนการคาดการณ์ล่าสุดสำหรับการเติบโตของจีนในปี 2568 ลดลงร้อยละ 0.6 เหลือร้อยละ 4
รายงานระบุว่า คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกจะชะลอตัวลง แม้ว่าอัตราการลดลงอาจช้ากว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ก็ตาม การเติบโตที่ชะลอตัวและแรงกดดันด้านราคาที่ต่อเนื่องกันนี้ ทำให้ผู้กำหนดนโยบายต้องเผชิญกับความท้าทายที่ซับซ้อน ในขณะที่พวกเขาพยายามหาสมดุลระหว่างการสนับสนุนเศรษฐกิจกับการควบคุมเงินเฟ้อ.-815.-สำนักข่าวไทย