ทำเนียบฯ 30 ส.ค. – “วิษณุ” ไม่ขอแสดงความเห็นกรณีสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เชิญ “โกวิท” นักวิชาการรัฐศาสตร์ สอบถามโพสต์ข้อความไม่เหมาะสม ชี้ บทบัญญัติข้อกำหนดฐานละเมิดศาลเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ มีหนังสือเชิญ รศ.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ บิดาของนายจอห์น วิญญู พิธีกรชื่อดัง เข้าให้ข้อมูลข้อเท็จจริง หลังโพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญด้วยถ้อยคำไม่เหมาะสม ว่า ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ กำหนดเรื่องฐานความผิดละเมิดศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นทุกคนต้องระมัดระวัง ซึ่งเข้าใจว่าวิธีนี้เป็นการเรียกไปสอบถามยังไม่ได้ตั้งข้อกล่าวหา ที่ผ่านศาลรัฐธรรมนูญไม่เคยมีฐานความผิดเรื่องการละเมิดศาล ซึ่งความผิดไม่ใช่เพียงการวิพากษ์วิจารณ์เท่านั้น แต่รวมถึงการกระทำที่เป็นการรบกวน เป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องมีบทบัญญัติเรื่องการละเมิดศาลเหมือนกับศาลอื่นเพื่อป้องกันการทำหน้าที่ในฐานะที่เป็นศาล และเป็นการทำในพระปรมาภิไธย ตนไม่ขอแสดงความเห็นว่ากรณีนี้เป็นการละเมิดสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของนักวิชาการหรือไม่ ดังนั้นขอให้ระมัดระวังกันเอง เรื่องนี้รัฐบาลไม่เกี่ยวข้องเป็นเรื่องของศาล
ส่วนการวิจารณ์ผ่านโซเชียลและมีการแจ้งความจะเข้าสู่กระบวนการของศาลหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า จะเข้าหรือไม่เข้าสู่กระบวนการก็ได้ เพราะการเรียกมาสอบถามก่อน อาจเป็นการถ้อยทีถ้อยอาศัย เช่น การตำหนิ หรือ ศาลจะออกข้อกำหนดต่างๆ เช่น สั่งห้ามไม่ให้เข้าศาล 3 วัน หยุดวิพากวิจารณ์ หรือให้ขอโทษศาล เป็นต้น และกรณีนี้ถือเป็นคดีอาญาพิเศษ ที่ศาลสามารถตั้งข้อกล่าวหาต่อหน้าได้ทันทีโดยไม่ต้องมีผู้อื่นไปแจ้งความ
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การแจ้งความฐานละเมิดศาลผู้แจ้งอาจเป็นผู้เสียหาย หรือเป็นประชาชนที่พบเห็นการวิพากษ์วิจารณ์ก็ได้ เช่นเดียวกับกรณีที่ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐไปแจ้งความ นายยุทธเลิศ สิปปภาค ผู้กำกับชื่อดัง ฐานโพสต์ข้อความไม่เหมาะสม ว่า หากยึดตามหลักการก็ทำได้ แต่ไม่ทราบว่าจะเข้าข่ายหลักเกณฑ์การพิจารณาของศาลหรือไม่ เพราะบทบัญญัติที่ออกมาเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของศาล ที่มีโทษทางอาญาทั้งจำและปรับ ซึ่งสุดท้ายเรื่องนี้ศาลจะพิจารณาเอง แม้นักวิชาการจะออกมาระบุว่า การแสดงความคิดเห็นไม่ใช่การวิพากษ์วิจารณ์ศาล
“สำหรับหลักเกณฑ์การพิจารณาการละเมิดศาล คือ อะไรก็ตามที่เป็นการล่วงเกิน ทำให้เห็นว่าศาลไม่เป็นกลาง หรือไม่ยุติธรรม ทำให้เกิดความรู้สึกจูงใจ โน้มน้าวคนที่ได้ยิน จนรู้สึกไม่ดีต่อศาล ซึ่งอาจไม่เป็นความจริง หรือ การก่อความไม่สงบเรียบร้อยภายในบริเวณศาล หรือขัดต่อสิ่งที่ศาลห้ามไว้ก่อนแล้ว ทั้งหมดก็เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยทั้งศาลและกระบวนการของศาล” นายวิษณุ กล่าว.-สำนักข่าวไทย