23 ส.ค.-กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เผยผลพิสูจน์การตายพะยูนน้อย “ยามีล” กระเพาะอาหารอักเสบรุนแรง-เรื้อรัง ตั้งแต่ก่อนการเกยตื้น นำไปสู่การติดเชื้อทั่วร่างกาย จนเกิดภาวะช็อก
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เผยผลพิสูจน์การตายของยามีลโดย น.ส.พัชราภรณ์ แก้วโม่ง นายสัตวแพทย์ ประจำศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทะเลอันดามัน (ภูเก็ต) เปิดเผยผลการชันสูตรหลังผ่าซากยามีล พบว่า กล้ามเนื้อหัวใจมีภาวการณ์ขาดเลือด และภายในช่องหัวใจมีก้อนเลือดแข็งตัวที่เกิดจากการอักเสบ ระบบทางเดินหายใจ พบการอักเสบและมีเมือกข้นตลอดทางเดินหายใจ ไตพบการอักเสบรุนแรงและมีปัสสาวะคั่งค้างในกระเพาะปัสสาวะประมาณ 100 มิลลิลิตร และระบบทางเดินอาหารพบการอักเสบของกระเพาะอาหารที่รุนแรงมีลักษณะแผลหลุมกระจายทั่วผนังกระเพาะ และมีหญ้าทะเลอัดแน่นอยู่ 150 กรัม ผนังลำไส้เล็กเริ่มมีการอักเสบและผนังหนาตัวขึ้น ลำไส้ใหญ่พบลักษณะการคั่งค้างของอาหารและพบลำไส้บางส่วนไม่สามารถบีบตัวส่งอาหารต่อไปได้ ร่วมกับมีการสะสมของแก๊ส
นอกจากนี้พบต่อมน้ำเหลืองบริเวณเยื่อแขวนลำไส้เริ่มมีการตอบสนองต่อการอักเสบ สรุปผลการเสียชีวิตมาจากภาวะการช็อกเหตุพิษติดเชื้อ ซึ่งมีผลมาจากการอักเสบของกระเพาะอาหารที่รุนแรงและเรื้อรัง ทำให้มีผลต่อการทำงานของระบบทางเดินอาหารทำให้ระบบการย่อยอาหารผิดปกติ เกิดอาการท้องอืดและมีอาการปวดเสียดรุนแรง ร่วมกับมีการอักเสบติดเชื้อทั่วร่างกาย โดยการตายของยามีล ส่วนหนึ่งเกิดจากการอักเสบเรื้อรังภายในกระเพาะอาหารซึ่งมีมาก่อนการเกยตื้น ส่งผลให้เกิดเป็นแผลหลุมขนาดใหญ่ โน้มนำให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อน และนำไปสู่การติดเชื้อทั่วร่างกาย ร่วมกับความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง ทำให้เกิดภาวะช็อก และเสียชีวิตในที่สุด
นายจตุพร บุรุพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) กล่าว ขอบคุณทีมสัตวแพทย์ กองทัพเรือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ทีมพิทักษ์ดุหยง อาสาสมัคร และผู้นำท้องถิ่น ที่ร่วมมือกันดูแล อนุบาล และฟื้นฟูมาเรียม และยามีล อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่แรกพบจนถึงห้วงเวลาที่พะยูนทั้งสองได้จากเราไปอย่างสงบและไม่มีวันหวนกลับมา ทำให้ทุกภาคส่วนหันมาตระหนักถึงความสำคัญในการอนุรักษ์พะยูน และการบริหารจัดการขยะอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
ทางกรมฯได้เน้นย้ำให้ใช้งานวิชาการเป็นฐานในการกำหนดมาตรการที่เหมาะสม ให้มีการลาดตระเวนทางทะเลเชิงคุณภาพร่วมกับชุมชนในพื้นที่ ให้มีการปรับเปลี่ยนเครื่องมือประมงที่เป็นสาเหตุการตายของพะยูนและส่งเสริมการท่องเที่ยวชมพะยูนอย่างถูกวิธี พร้อมกำชับให้อาสาสมัครพิทักษ์ทะเลเป็นศูนย์กลางในการทำงาน ตลอดจนร่วมมือกับจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
พร้อมกันนี้ ทช. จะเร่งรัดการดำเนินการตามแผนการลดปริมาณขยะทะเล และจะจัดทำแผนอนุรักษ์พะยูนของประเทศไทย รวมทั้งถอดบทเรียนเพื่อให้เป็นประโยชน์ในการดูแลพะยูน เพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการประชุมพะยูนโลกที่จะจัดในปีหน้าต่อไป.-สำนักข่าวไทย