กรุงเทพฯ 19 ส.ค.- นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินจีดีพีไทยโตร้อยละ 3 หลังรัฐบาลออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ติงควรเพิ่มแผนลดต้นทุนผลิตและดูแลค่าเงินให้แข่งขันได้
นายอัทธ์ กล่าวว่า เห็นด้วยกับรัฐบาลที่เตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น วงเงิน 316,000 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 3 ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกอาจจะขยายตัวไม่ถึงร้อยละ 3 เพราะปัญหาสงครามการค้า ขณะที่จีนลดค่าเงินหยวนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออก ดังนั้น รัฐบาลควรเพิ่มเติมมาตรการระยะกลางเพื่อให้สินค้าไทยแข่งขันด้วยการหาทางเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทั้งสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ต้องเร่งหาตลาดส่งออก ในส่วนของตลาดที่มียอดส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 5 และดูแลอัตราแลกเปลี่ยน ทำอย่างไรให้ค่าเงินบาทของไทยมีอัตราเปลี่ยนแปลงที่สามารถแข่งได้กับคู่แข่ง ซึ่งการที่จีนตั้งเป้าหมายให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐจากร้อยละ 16 เป็นร้อยละ 25 ประเทศไทย โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ต้องใช้กลไกดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในทิศทางใกล้เคียงกัน
“มาตรการของภาครัฐที่จะเข้า ครม.พรุ่งนี้เป็นมาตรการระยะสั้น แต่ก็ควรเสริมมาตรการระยะกลางที่ทำให้สินค้าไทยมีราคาแข่งขันได้ ทั้งต้นทุนผลิต มีตลาดใหม่และส่วนสำคัญคือค่าเงินจะต้องไม่แข็งค่ามากกว่าคู่แข่ง ซึ่งด้านตลาดส่งออก แม้มีหลายประเทศประสบปัญหาส่งออกลดลงมากกว่าไทย เช่น อินโดนีเซียส่งออกลดลงร้อยละ 10 แต่ก็ต้องวางแผนให้ต้นทุนต่ำเพื่อแข่งขันให้ได้มากที่สุด” นายอัทธ์ กล่าว
นายอัทธ์ กล่าวว่า ในส่วนของการลดต้นทุนภาคเกษตรเป็นเรื่องสำคัญทำอย่างไรให้ต้นทุนต่ำสุด ,เพิ่มผลิตผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น เช่น ปาล์มให้ได้ผลผลิตไม่ต่ำกว่า 4-5 ตันต่อไร่ ,ข้าว ให้ผลผลิตมากกว่า 450 กก./ไร่ ซึ่งจะเป็นการช่วยให้เกษตรกรอยู่ได้อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ในช่วงนี้เห็นได้ว่าจะมีการย้ายฐานการลงทุนจากจีนออกมาก ประเทศไทยก็ต้องเตรียมพร้อมรับประโยชน์จากส่วนนี้ แต่ที่สำคัญก็ต้องคัดเลือกเช่นกัน เพราะสหรัฐจะตามไปดูว่าอุตสาหกรรมที่ย้ายฐานไปนั้นเป็นการหลบเลี่ยงการจัดเก็บภาษีจากจีนหรือไม่ หากพบว่าจีนยังคงได้ประโยชน์จากการย้ายฐาน ทางสหรัฐก็จะตามไปจัดเก็บภาษีเช่นเดิม ซึ่งรัฐบาลไทยจะต้องระมัดระวังในเรื่องนี้มากที่สุด. -สำนักข่าวไทย