ยธ.19 ส.ค.-รมว.ยุติธรรม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมกรมราชทัณฑ์ เดินหน้าลดความแออัดคุกและเพิ่มฝึกอบรมอาชีพด้านอุตสาหกรรมระหว่างรอปล่อยตัว พบปัจจุบันมีผู้ต้องขังกว่า 3.7แสนคน และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่เจ้าหน้าที่และสถานที่คุมขังไม่พอ
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม(ยธ.) เดินทางตรวจยี่ยมกรมราชทัณฑ์ พร้อมรับฟังคำบรรยายสรุปผลการดำเนินงาน และปัญหา อุปสรรคในการปฏิบัติงานของกรมราชทัณฑ์ โดยมี พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ให้การต้อนรับ โดยมีการถ่ายทอดผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (Video Conference ) ไปยังผู้บัญชาการเรือนจำ ผู้อำนวยการทัณฑสถานทั่วประเทศ
อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้บรรยายสรุปผลการดำเนินงานของกรมราชทัณฑ์ รวมถึงรายงานปัญหาอุปสรคต่างๆ ที่กรมราชทัณฑ์กำลังเผชิญ ได้แก่
1.ปัญหาคนล้นคุก โดยปัจจุบันมีผู้ต้องขัง 370,736 คน ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในขณะที่มีจำนวนเจ้าหน้าที่และสถานที่คุมขังไม่เพียงพอ อันนื่องจากกระบวนการยุติธรรมของไทยได้ถูกออกแบบมาให้มีโทษทางอาญถึงขั้นจำคุกมากเกินไป
2.ปัญหาสุขภาวะในเรือนจำ อันเป็นผลมาจากปัญหาคนล้นคุกทำให้การ กินอยู่หลับนอน การรักษาพยาบาลและกิจกรรมต่างๆเรือนจำ ไม่เป็น สุขภาวะ ส่งผลให้การฝึกอบรมแก้ไขพัฒนาพฤตินิสัย มีประสิทธิภาพลดลง
3.ปัญหาการกระทำผิดซ้ำ หากสามารถลดจำนวนผู้ต้องขังด้วยการบริหารโทษ การกระทำผิดทางอาญาให้มีโทษจำคุกน้อยลง เช่น คดียาเสพติดที่มีอยู่ประมาณ 300,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 75 ของจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด ได้ด้วยการให้ผู้เสพ ผู้จำหน่ายรายย่อย เป็นผู้ป่วยมิใช่อาชญากร และเข้ารับการบำบัดแทนโทษจำคุกอาจเป็นหนทางแก้ไขปัญหานี้ได้ตลอดจนการไม่มีงานทำ หรือขาดอาชีพจึงทำให้ขาดรายได้ และหวนกลับไปกระทำผิดซ้ำ นำไปสู่การก่ออาชญากรรมหรือทำผิดกฎหมายเหมือนเดิม
ด้าน รมว.ยุติธรรม กล่าวภายหลังรับรายงาน ว่า ในส่วนการแก้ไขปัญหาคนล้นคุก ตามมาตรฐานคุกที่จะไม่อึดอัดจะอยู่ที่ประมาณ 120,000 คน แต่ในความเป็นจริงเป็นไปได้ยากเพราะหลายปัจจัย ซึ่งการแก้ไขพยายามประสานการให้โอกาสผู้ต้องขังที่คดีไม่ร้ายแรงสามารถออกไปใช้ชีวิตภายใต้การคุมประพฤติด้วยกำไลอีเอ็ม เบื้องต้นตั้งใจจะใช้กับผู้ที่ต้องโทษ 20,000-30,000 ราย แต่คงไม่สามารถทำได้ทันในปีงบประมาณนี้ คงต้องเป็นในปีงบประมาณหน้า รวมถึงได้ติดต่อพูดคุยกับศาลฎีกา ในการดำเนินการประเด็นกำไลอีเอ็ม และการฝึกอบรมระหว่างคุมประพฤติ น่าจะได้ข้อสรุปในเร็ววันนี้
รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะเพิ่มการอบรมอาชีพภาคอุตสาหกรรมในระหว่างรอการปล่อยตัว เพื่อรองรับการความต้องการของผู้ประกอบการในอนาคต รวมทั้งยังได้ชี้แจงนโยบายเกี่ยวกับการหาทางกำหนดมาตรการภาษีเพื่อ ให้สิทธิประโยชน์แก่นายจ้าง เจ้าของผู้ประกอบการ ร่วมกับกรมสรรพากรและกระทรวงการคลังในการผลักดันเพื่อให้เกิดแรงจูงใจในกาจ้างงานผู้พ้นโทษและส่งเสริมผู้พ้นโทษได้มีโอกาสทางสังคมมากยิ่งขึ้น ขณะนี้การพูดคุยใกล้จะได้ข้อสรุปแล้วเช่นกัน.-สำนักข่าวไทย