กรุงเทพฯ 17 ส.ค.- เงินบาททยอยอ่อนค่าลง ด้านหุ้นไทยดัชนีต่ำสุดรอบ7 เดือน หลังสงครามการค้ากดดันเศรษฐกิจโลก
บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานว่าน สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาททยอยอ่อนค่าลง โดยเงอ่อนค่าลงช่วงต้นสัปดาห์เช่นเดียวกับสกุลเงินในภูมิภาค ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวขึ้นหลังจากที่สหรัฐฯ เลื่อนเก็บภาษีจากวงเงินสินค้านำเข้าจากจีน 3 แสนล้านดอลลาร์ฯ เป็นวันที่ 15 ธ.ค. นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับแรงขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเป็นไปตามภาพรวมของตลาดสินทรัพย์เสี่ยง หลังจากที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะยาว ร่วงลงมาอยู่ต่ำกว่าระยะสั้น ซึ่งกระตุ้นความกังวลต่อภาวะถดถอยของสหรัฐฯ เงินบาทยังคงปรับตัวในกรอบอ่อนค่าในช่วงท้ายสัปดาห์ สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่มีปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากยอดค้าปลีกเดือนก.ค. ของสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งกว่าที่ตลาดคาด
ในวันศุกร์ (16 ส.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 30.86 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 30.73 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (9 ส.ค.)
ดัชนีหุ้นไทยแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 7 เดือนที่ 1,590.55 จุด ก่อนจะกลับมาปิดปลายสัปดาห์ที่ 1,631.40 จุด ลดลง 1.17% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 75,604.08 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.22% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ลดลง 2.13% จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ 350.02 จุด
ตลาดหุ้นไทยร่วงลงเกือบตลอดสัปดาห์ตามแรงเทขายของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติท่ามกลางความกังวลต่อสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ทิศทางเศรษฐกิจโลก รวมถึงสถานการณ์ในฮ่องกงและอาร์เจนตินา นอกจากนี้ ยังมีแรงฉุดจากแรงเทขายหุ้นกลุ่มธนาคาร (หลังมีการประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพียงขาเดียว) และหุ้นกลุ่มสื่อสารในระหว่างสัปดาห์ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวขึ้นได้บางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ หลังครม. เศรษฐกิจมีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมครม. ต่อไป
สัปดาห์ถัดไป (19-23 ส.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 30.70-31.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,610 และ 1,590 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,640 และ 1,650 จุด ตามลำดับ
โดยจุดสนใจของตลาดในประเทศน่าจะอยู่ที่ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/62 และข้อมูลการส่งออกเดือนก.ค. ของไทย ขณะที่ประเด็นเศรษฐกิจต่างประเทศที่สำคัญ ประกอบด้วยสถานการณ์สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน และ BREXIT ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะประกาศระหว่างสัปดาห์ ประกอบด้วย ยอดขายบ้านมือสองและยอดขายบ้านใหม่เดือนก.ค. นอกจากนี้ นักลงทุนอาจรอติดตามบันทึกการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 30-31 ก.ค. รวมถึงสัญญาณที่อาจสะท้อนทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้าจากถ้อยแถลงของประธานเฟด และสัมมนาประจำปีของเฟดที่ Jackson Hole ระหว่างวันที่ 22-24 ส.ค. ด้วยเช่นกัน-สำนักข่าวไทย