ทำเนียบฯ 16 ส.ค. – ครม.เศรษฐกิจเห็นชอบ 3 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วน อัดฉีดเงินออกสู่ระบบ 3 แสนล้านบาท ครอบคลุมรายย่อยถือบัตรสวัสดิการ เกษตรกร คนระดับกลางหนุนท่องเที่ยว และผลักดันการลงทุน
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 ด้าน คือ ด้านการดูแลภัยแล้ง การดูแลผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และการช่วยเหลือค่าครองชีพ ซึ่งมีทั้งงบประมาณปี 2562 และวงเงินสินเชื่อสถาบันการเงินของรัฐ ซึ่งขั้นตอนต่อไปจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบวันที่ 20 สิงหาคมนี้ เพื่อให้มีผลทันทีในเดือนสิงหาคม 2562
สำหรับมาตรการสำคัญ คือ การช่วยเหลือค่าครองชีพ ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งทุกคนที่ถือบัตรฯ จำนวน 14.5 ล้านคน จะได้รับการเติมเงินพิเศษเพิ่มคนละ 500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน ระหว่างสิงหาคม – กันยายนนี้ รวม 1,000 บาท ขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะได้รับเดือนละ 500 บาทเป็นเวลา 2 เดือนเช่นเดียวกัน กลุ่มสุดท้าย คือ เงินเลี้ยงดูบุตรสำหรับผู้ที่ที่ถือบัตรฯ ตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ปี ได้เดือนละ 300 บาท เป็นเวลา 2 เดือน
ส่วนมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว ที่ประชุมเห็นชอบให้แจกเงินให้กับผู้ที่เดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดนอกเขตภูมิลำเนาจำนวน 1,000 บาท โดยมีอายุ 18 ปีขึ้นไป เป็นจำนวน 10 ล้านคน โดยต้องลงทะเบียนขอรับสิทธิ์ผ่านแอพพลิเคชั่นที่กระทรวงการคลังจัดทำขึ้น และยังให้ผู้ที่ได้สิทธิ์สามารถนำค่าใช้จ่ายจริงจากการเดินทางท่องเที่ยวมาขอคืนเงินได้อีก 15% ของค่าใช้จ่ายที่ไม่เกินวงเงิน 30,000 บาท ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดจะมีความชัดเจนหลังจากเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว และยังมีการยกเว้นวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวจีน และอินเดีย แต่ต้องหารือกับหน่วยงานเกี่ยวข้องต่อไปว่าจะยกเว้นให้นานเท่าไร
ขณะที่มาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ทั้งปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นเวลา 1 ปี และให้สินเชื่อฉุกเฉินจาก ธ.ก.ส. คนละไม่เกิน 50,000 บาท ปีแรกฟรีดอกเบี้ย รวมวงเงิน 50,000 ล้านบาท ปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูความเสียหายจากผลกระทบภัยแล้งรายละไม่เกิน 500,000 บาท วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท พร้อมทั้งขยายเวลาชำระหนี้เงินกู้ของ ธ.ก.ส. และช่วยเหลือต้นทุนการผลิตกับชาวนาที่ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/2563 ให้กับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 3 ล้านคน
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการการส่งเสริมการลงทุนในประเทศ สำหรับผู้ที่ซื้อเครื่องจักรสามารถนำเงินค่าใช้จ่ายหักลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า รวมทั้งมีมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีรายเล็กและกลาง ทั้งการช่วยเหลือผ่านกองทุนของรัฐบาล จากธนาคารออมสินและธนาคารกรุงไทย โดยมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. ช่วยค้ำประกัน และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารออมสิน วงเงินรวม 52,000 ล้านบาท สุดท้าย คือ การช่วยพักชำระหนี้เงินต้นให้กับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง
นายอุตตม กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้มีการใช้เงินผ่านสถาบันการเงินของรัฐประมาณกว่า 200,000 ล้านบาท เงินกองทุนบัตรสวัสดิการ และเงินงบกลางไม่เกินร้อยละ 50 ในช่วงรัฐบาลจะใช้เงินชดเชยภายหลังในปีต่อไป รวมเงินทั้งหมดรัฐบาลอัดฉีดเงินออกสู่ระบบผ่านหลายช่องทาง 316,000 ล้านบาท หวังจีดีพีปี 2562 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3 เพื่อรับมือผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ประเมินว่ามาตรการครั้งนี้ทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจมากกว่าที่อัดฉีดออกไป ยืนยันหารือกับสำนักงบประมาณแล้วไม่ผิดวินัยการใช้เงินทางการคลัง เตรียมมาตรการทั้งหมดเสนอ ครม.ชุดใหญ่พิจาณาในขั้นต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการช่วยเหลือภาคเกษตรจะมีการใช้วงเงินกว่า 35,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการช่วยเหลือ 2 ส่วน ส่วนแรกเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งประมาณ 900,000 ราย ซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติจากกรมป้องกันบรรเทาและสาธารณภัย (ปภ.) 13 จังหวัด โดยมีการพักชำระเงินต้นให้ 2 ปี จนถึงกลางปี 2564 ขณะเดียวกันจะมีการลดชำระดอกเบี้ยให้เหลือ 0.1% เป็นเวลา 1 ปี ในส่วนของวงเงินกู้ 300,000 บาทแรก จนถึง 31 กรกฎาคม 2563 โดยใช้งบประมาณรวมกว่า 10,000 ล้านบาท นอกจากนี้ วงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษช่วยเหลืออีก 55,000 ล้านบาท ประกอบด้วย สินเชื่อฉุกเฉินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายให้กู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท ดอกเบี้ย 0% ปีแรก และสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กู้อีกรายละ 500,000 บาท
ส่วนต่อมาเป็นมาตรการลดต้นทุนการผลิตให้กับชาวนาทุกคนที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงการเกษตรและสหกรณ์กว่า 3 ล้านราย โดยใช้วงเงินกว่า 25,000 ล้านบาท โดยจะมีการให้เงินอุดหนุนช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 500 บาท กำหนดให้สูงสุดไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ รวมวงเงินต่อครัวเรือนจะได้รับสูงสุดถึง 10,000 บาท ขณะที่มาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยว ชิม ช้อป ใช้ ยืนยันจะให้มีการเติมเงินให้ใช้จ่ายผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อี-วอลเลท) เท่านั้น ไม่สามารถกดไปใช้เงินสดได้ และที่สำคัญจะมีการกำหนดเงื่อนไขให้นำไปสู่การกระตุ้นการท่องเที่ยวได้แท้จริง.-สำนักข่าวไทย