แจ้งวัฒนะ15 ส.ค.-รมว.สธ.ยืนยันรัฐบาลไม่มีแนวคิดให้ประชาชนร่วมจ่าย ในระบบบริการสุขภาพ แต่รับจะหางบฯให้เพียงพอ พร้อมขอให้การใช้จ่ายในงบกองทุนหลักประกันฯ เน้นการใช้วัสดุอุปกรณ์โดยคนไทย เพื่อให้การหมุนเวียนเงินในประเทศไทย ชูระบบสุขภาพเป็นรากฐานเศรษฐกิจ และ ครม.เศรษฐกิจวันพรุ่งนี้ จะนำเรื่องงบฯรายหัว เข้าหารือด้วย
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเวทีรับฟังความเห็น “กองทุนบัตรทอง ครั้งที่ 16 “ ระดมความคิดเห็นจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการ เพื่อพัฒนาปรับปรุงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง ว่า ระบบบัตรทอง มีส่วนสำคัญที่ทำให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรง ปัจจุบันระบบมีความก้าวหน้ามาก และยืนยันจะทำให้ระบบดีขึ้น
พร้อมยืนยันรัฐบาลนี้และในฐานะ รมว.สาธารณสุข ไม่มีแนวคิดเรื่องการร่วมจ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพ ฉะนั้นไม่ต้องไปกังวล โดยระบบหลักประกันฯนี้จะอยู่ต่อไปไม่มีการเปลี่ยนแปลง อะไรที่ประชาชนเคยได้รับต้องยังคงอยู่ และมีแต่จะทำให้สิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุมมากขึ้น อย่างเช่น การดูแลรักษาโรคหายาก
ส่วนคณะกรรมการที่เคยมีการตั้งขึ้นในรัฐบาลก่อนหน้ามาเพื่อศึกษาเรื่องการร่วมจ่ายนั้น ยังจะต้องปรึกษาเลขาธิการคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และปลัดกระทรวงสาธารณสุข ว่าจะทำอย่างไรต่อไป
นายอนุทิน กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่จะทำต่อจากนี้ คือให้ประชาชนทุกช่วงวัยเข้าถึงระบบบริการที่มีคุณภาพ เท่าเทียม เพื่อเป็นการวางรากฐานที่แข็งแรง ประชาชนไม่ล้มละลายจากค่าใช้จ่ายทางสุขภาพ ซึ่งหากคนไทยพร้อมใจกันแข็งแรง ก็จะสามารถทำงาน จ่ายภาษี และจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศแข็งแรง ซึ่งตนเชื่อว่าระบบสาธารณสุขเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นในฐานะที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น 1ในคณะกรรมการคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีการประชุมในวันพรุ่งนี้(16 ส.ค.) นัดแรก จะมีการพูดคุยเรื่องนี้ด้วย
ส่วนแนวทางการบริหารงบประมาณหลักประกันสุขภาพ ต่อไปขอให้เน้น เรื่องการจัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์ ทางการแพทย์ ที่ผลิตในประเทศไทย เพื่อให้เงินจำนวนกว่า 2-3 แสนล้านบาทยังหมุนเวียนอยู่ในประเทศ ไม่ไปไหน และเป็นการช่วยพยุงเศรษฐกิจของไทย ย้ำเราใช้จ่ายให้เป็น และรับให้เป็นก็อยู่ได้
ส่วนเรื่องยาจากน้ำมันกัญชา สารสกัดทั้งTHC และCBD ที่จะเริ่มใช้ในวันที่19 ส.ค. นี้ นายอนุทิน กล่าวว่า หากดีจริง ผลว่าใช้ในผู้ป่วยแล้วมีประสิทธิภาพ ก็จะนำเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพ
สำหรับในเวทีรับฟังความคิดเห็น ประเด็นแบ่งเป็น ห้องประชุมย่อย 7 ด้าน ประกอบด้วย 1.ประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุขที่จำเป็นกับชีวิต 2.มาตรฐานบริการสาธารณสุข 3.การบริหารจัดการสำนักงาน 4.การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 5.การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นและพื้นที่ 6.การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และ 7.การรับรู้และคุ้มครองสิทธิ และเพิ่มประเด็นเฉพาะ “การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก” ร่วมด้วย .-สำนักข่าวไทย