กรุงเทพฯ 14 ส.ค. – ราชกรุ๊ปแจงค่าไฟฟ้าถูกเร่งก่อสร้างเสริมพลังงานมั่นคง จึงเหมาะสมได้โครงการภาคตะวันตก พร้อมร่วมทุนสายส่งไฟฟ้าฮับอาเซียน
นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้กำลังเจรจากับ ปตท.ในเรื่องสัญญาก๊าซธรรมชาติ เพื่อป้อนโรงไฟฟ้าภาคตะวันตกหินกอง 1,400 เมกะวัตต์ ซึ่งหากตกลงรายละเอียดไม่ได้ก็สามารถซื้อจากรายอื่นตามนโยบายรัฐบาลที่เปิดให้รายอื่นนำเข้าแอลเอ็นจีเข้ามาแข่งขันได้ตามนโยบายเปิดให้บุคคลที่ 3 นำเข้า (Third Party Access) โดยใช้คลังและท่อก๊าซของ ปตท.และขอยืนยันว่าการที่ราชกรุ๊ปได้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าหินกองก็เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องเร่งสร้างโรงไฟฟ้า เพื่อป้อนความมั่นคงในภาคใต้ภายในปี 2567และค่าไฟฟ้าต้องต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับไอพีพีโรงอื่น ๆ ซึ่งเรื้องนี้เป็นเรื่ิองที่ชี้แจงได้ ซึ่งการที่ค่าไฟฟ้าต่ำเป็นผลมาจากตั้งอยู่ในพื้นที่เดิมของโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอร์ยี่ที่จะหมดสัญญาขายไฟฟ้าไอพีพีปี 2563 และใช้ระบบสายส่งและท่อก๊าซธรรมชาติเส้นเดิมที่มีอยู่แล้ว
“สัญญาก๊าซที่กำลังคุยกับ ปตท. คือ ค่าความร้อน หรือ Heating Value ที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะก๊าซใหม่ส่วนผสมจะเปลี่ยนแปลงไปและส่วนนี้ก็จะมีผลต่อต้นทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าโดยจะซื้อก๊าซจากไหนต้องตอบโจทย์สำคัญของภาครัฐได้ค่าไฟฟ้าต้องต่ำที่สุด” นายกิจจา กล่าว
ขณะเดียวกัน บริษัทยังเตรียมแผนขยายงานด้านการก่อสร้างสายไฟฟ้าตามนโยบายนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้าอาเซียน ซึ่งผู้ดำเนินโครงการ คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แต่ด้วยวงเงินลงทุนที่สูงมาก ประกอบกับ กฟผ.จะต้องลงทุนทั้งโรงไฟฟ้าและสายส่งอีกกว่า 600,000 ล้านบาท ดังนั้้น หากรัฐบาลเปิดให้การลงทุนสายสางอาเซียนด้วยรูปแบบให้และโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ-เอกชน (Public-Private Partnership: PPP) ทางบริษัทก็พร้อม และจากการหารือกับ กฟผ. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นหลักก็เห็นร่วมกันว่า กฟผ.และบริษัทในเครือพร้อมจะลงทุนเรื่องนี้และบริษัทยังศึกษาถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดการพลังงานสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม ด้วย
สำหรับผลการดำเนินงานรอบครึ่งปีแรก 2562 บริษัทฯ มีรายได้รวม 23,518.50 ล้านบาท โดยรายได้หลักมาจาก 2 ส่วนที่สำคัญ คือ รายได้ค่าขายไฟจากโรงไฟฟ้าราชบุรี โรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ และบริษัท ราช-ออสเตรเลีย คอร์ปอเรชั่น รวม 19,283.96 ล้านบาท คิดเป็น 82% ของรายได้รวม และรายได้จากส่วนแบ่งกำไรของกิจการร่วมทุน 2,362.96 ล้านบาท คิดเป็น 10% ของรายได้รวม ทั้งนี้ บริษัทฯ มีกำไรสำหรับงวด 3,693.57 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% เทียบกับงวดเดียวกันของปีที่แล้ว คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 2.55 บาท
ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาสะท้อนถึงการเติบโตทางธุรกิจและความมั่นคงทางการเงินได้เป็นอย่างดี เห็นได้จากการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มขึ้น 3 แห่ง กำลังผลิตติดตั้งตามการลงทุนรวม 1,776.74 เมกะวัตต์ ซึ่ง 2 โครงการเป็นโครงการพลังงานลมขนาดใหญ่ในออสเตรเลีย ได้แก่ โครงการคอลเลคเตอร์ และโครงการยานดิน ซึ่งความสำเร็จการร่วมทุนในโครงการยานดิน ถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างฐานธุรกิจในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย ซึ่งเป็นรัฐขนาดใหญ่ของออสเตรเลีย
“กลยุทธ์การลงทุนปีนี้จะเน้นการร่วมทุนกับพันธมิตร ทั้งในรูปแบบการซื้อกิจการที่มีรายได้แล้ว โครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา และการพัฒนาโครงการใหม่ เพื่อให้การบริหารเงินลงทุนและผลตอบแทนมีประสิทธิภาพสูงสุด” นายกิจจา กล่าว
สำหรับธุรกิจระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน บริษัทฯ ได้เข้าร่วมประมูลโครงการคมนาคมขนส่งระบบราง ถนน และโทรคมนาคม เพื่อเร่งสร้างฐานธุรกิจตามเป้าหมาย รวมทั้งติดตามความก้าวหน้าของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีเหลือง ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2564 และขยายกิจการไปธุรกิจโทรคมนาคม/น้ำประปา เพื่อจะให้สอดคล้องเป้าหมายปี 2566 มีธุรกิจไฟฟ้า10,000 เมกะวัตต์ และมีธุรกิจอื่น ๆ ในสัดส่วน 20% ของรายได้
ปัจจุบัน ราชกรุ๊ปมีกำลังผลิตไฟฟ้าในมือรวมธุรกิจรถไฟฟ้าและประปาประมาณ 9,416 เมกะวัตต์ แต่หากคิดเฉพาะธุรกิจโรงไฟฟ้าจะอยู่ที่ 9,222 เมกะวัตต์ โดยเป็นโครงการที่ขายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว 6,860 เมกะวัตต์.-สำนักข่าวไทย