กรุงเทพฯ 14 พ.ค. – RATCH เดินหน้าธุรกิจตามแผน แม้เผชิญ COVID- 19 แต่เป็นโอกาสในการทำ M&A มั่นใจปีนี้ปิดดีล 4-5 โครงการ พร้อมขยายงานสาธาณูปโภคพื้นฐาน ศึกษาร่วมทุนสร้างรถไฟฟ้าในไทย ส่วนรถไฟฟ้าสายชมพู-เหลือง ล่าช้ากว่าแผน
นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ยังมุ่งมั่นขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจผลิตไฟฟ้าให้บรรลุเป้าหมาย 10,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2566 เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องหลังวิกฤติโควิด-19 คลี่คลาย จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการแพทย์และอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพมีแนวโน้มที่จะเติบโตมากขึ้น อีกทั้งจะมีการพัฒนาคิดค้นนวัตกรรม และนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจและการดำเนินชีวิตรองรับวิถีปกติใหม่หลังจากนี้ เพื่อให้เกิดการรักษาระยะห่างทางสังคมลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิด-19 และโรคอุบัติใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
สำหรับการดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายดังกล่าว บริษัทได้วางแผนเจรจาเพื่อเข้าร่วมทุนในโครงการที่ลงทุนไปแล้ว หลายแห่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตั้งเป้า 4-5 โครงการปีนี้ มีกำลังการผลิต 800 เมกะวัตต์ ใช้เงินในส่วนนี้ประมาณ 10,000 ล้านบาท เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัทฯ ประสบความสำเร็จร่วมทุนในโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก ประเภทโคเจนเนอเรชั่น ไปแล้ว 2 แห่งในประเทศไทย มูลค่าการลงทุนส่วนทุนรวม 888 ล้านบาท ซึ่งโควิด-19 ก็เป็นโอกาส เพราะมีการเจรจาขายกิจการ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการเจรจาควบรวมกิจการ (M&A) รวมทั้งเตรียมแผนจะเสนอโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน โดยมีการเจรจาเพื่อดำเนินการในภาคใต้ไว้บ้างแล้ว
นอกจากนี้ บริษัทยังวางแผนขยายการลงทุนในระบบสาธารณูปโภคเพิ่มเติมจากที่ร่วมทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง ที่ล่าช้ากว่าแผนเดิมทั้ง 2 โครงการ เพราะทางการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ส่งมอบพื้นที่ล่าช้า โดยสายสีเหลืองมีการขยายสัญญาจากเดิมเดินรถเดือนตุลาคม 2564 ขยับเป็น 9 เดือน ไปกรกฎาคม 2565 ,การร่วมทุนในโครงการมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน -นครราชสีมา และบางใหญ่-กาญจนบุรี ล่าสุดร่วมกับบริษัทของคนไทย คือ AMR ASIA ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งโรงงานผลิตและประกอบรถไฟฟ้าและรถไฟฟ้า การซ่อมบำรุงในเมืองไทย เพราะเห็นว่าประเทศไทย มีการพัฒนาระบบรางในอนาคตอีกจำนวนมาก การผลิตโดยคนไทยนับเป็นการสร้างประโยชน์แก่ประเทศในการลดการพึ่งพาการนำเข้า
สำหรับผลประกอบการ ไตรมาสที่ 1 ปี 2563 บริษัทฯ มีรายได้รวม 4,506.78 ล้านบาท กำไรก่อนรับรู้ผลกระทบอัตราแลกเปลี่ยน จำนวน 1,983.85 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.5 จากไตรมาสที่ 1 ปี 2562 และเมื่อรับรู้การขาดทุนทางบัญชีอัตราแลกเปลี่ยน บริษัทฯ มีกำไร 1,360.82 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 21.8 จากงวดเดียวกันของปีที่แล้ว.-สำนักข่าวไทย