กรุงเทพฯ 14 พ.ย.- ราช กรุ๊ป ยื่นขอเป็นชิปเปอร์ นำเข้าแอลเอ็นจี หวังลดตุ้นทุนค่าไฟฟ้าของประเทศโดยรวม พร้อมเดินหน้าประมูลมอเตอร์เวย์-รถไฟฟ้า เพื่อเป็นฐานรายได้ที่มั่นคง ปีหน้ากำเงิน1.4 หมื่นล้านบาท ซื้อกิจการใหม่ พร้อมเล็งลงทุนเชื้อเพลิงอัดแท่งขายญี่ปุ่น-จีน-เกาหลีใต้
นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าบริษัทได้ยื่นเสนอต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและนำเข้าก๊าซ หรือ ผู้ใช้บริการ (Shipper)สำหรับการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ตามนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมบุคคลที่สามนำเข้านอกเหนือจาก บมจ.ปตท. ซึ่งการที่มีผู้แข่งขันนำเข้าหลายรายจะทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าของประชาชนถูกลง โดยขณะนี้รับทราบว่า ทางกลุ่มกัลฟ์ และ กลุ่มบีกริม ก็ได้ยื่นขอนำเข้าเช่นกัน โดยหาก บริษัทได้นำเข้าเอง ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะนำมาใช้สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ คือ โรงไฟฟ้าหินกอง 1 และ 2 จ.ราชบุรี ที่จะเข้าผลิตไฟฟ้าตามสัญญาใน วันที่ 1 มีนาคม 2567 และ เดือน มกราคม 2568
“ในส่วนของเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าหินกอง และ ผู้ถือหุ้นร่วมทุนโรงไฟฟ้าหินกอง จะเจรจาเสร็จสิ้นช้าสุดคือต้นปี 63 โดยในส่วนเชื้อเพลิง เจรจาทั้งซื้อจาก ปตท. และการนำเข้าเอง หากได้เป็นชิปเปอร์ หรือ ซื้อจากรายอื่นๆ เพื่อให้ต้นทุนนั้นต่ำที่สุด” นายกิจจา กล่าว
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังให้น้ำหนักการลงทุนเพิ่มในธุรกิจระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน เพราะให้ผลตอบแทนที่มั่นคงและระยะยาว โดยมีกลุ่มพันธมิตรหลักบีเอสอาร์ (BSR) ซึ่งจะเข้าร่วมประมูลในโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนด้านคมนาคมขนส่ง โทรคมนาคม และการบริการสาธารณะต่างๆ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาโอกาสในการเข้าร่วมลงทุนอีกหลายโครงการ จากที่ล่าสุดเข้าร่วมกิจการร่วมค้าบีจีเอสอาร์ (BGSR) เข้าประมูลโครงการติดตั้งและบริหารระบบเก็บเงินมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา และบางใหญ่-กาญจนบุรี มูลค่ากว่า 60,000 ล้านบาท ซึ่งได้รับการพิจารณาคัดเลือกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว การลงทุนนี้จะเป็นไปตามเป้าหมายในปี 2566 ที่สัดส่วนการลงทุนสาธารณาปโภคจะเพิ่มจากสัดส่วนร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 20 และสัดส่วนโรงไฟฟ้าและพลังงานจะลดลงจากร้อยละ 95 เหลือร้อยละ 80
สำหรับการลงทุนในปี 2563 คาดว่าจะมีเม็ดเงินราว 2 หมื่นล้านบาท โดย 6 พันล้านบาทเป็นการลงทุนในโครงการที่ได้สัญญามาแล้ว ส่วนอีก 1.4 หมื่นล้านบาทเป็นการซื้อโครงการใหม่ 700-800 เมกะวัตต์ต่อปี เพื่อให้ได้เป้าหมาย 1 หมื่นเมกะวัตต์ในปี 2666 จากปัจจุบันมีในสัญญาแล้ว 9,341 เมกะวัตต์ โดยเดินเครื่องแล้ว 7,057 เมกะวัตต์ และในปี2563 คาดว่า รายได้จะดีขึ้นจากปีนี้ จากการรับรู้รายได้จาก 4 โครงการใหม่ที่เข้าระบบ รวม 395.54 เมกะวัตต์ ได้แก่ โรงไฟฟ้าราชโคเจนเนอเรชั่น 119.11 เมกะวัตต์ ,โรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียนเซน้ำน้อย 102.5 เมกะวัตต์ (คาดซีโอดีหรือเข้าระบบในวันที่ 1-6 ธ.ค.2562),โรงไฟฟ้านวนครส่วนขยาย 23.99 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานลมยานดิน ประเทศออสเตรเลีย 149.94 เมกะวัตต์
ในขณะเดียวกัน บริษัทยังพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการลงทุนเชื้อเพลิงอัดแท่ง Wood pallet เพื่อจำหน่ายให้แก่ ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ เนื่องจากเป็นแนวโน้มธุรกิจที่ดี ที่โรงไฟฟ้าฟอสซิล ทั้งก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน ต้องการนำเชื้อเพลิงอัดแท่งจากไม้ ไปผสมกับเชื้อเพลิงหลัก เพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยทางผู้ซื้อต้องการทำสัญญาระยะยาว ดังนั้น บริษัทจึงอยู่ระหว่างการเจราจาจัดหาพื้นที่ขนาดใหญ่ เช่น จาก สปป.ลาว และเมียนมา เพื่อปลูกไม้ยืนต้นในการนำมาอัดแท่งดังกล่าว โดยจะต้องหาพื้นที่หลายหมื่นหรือนับแสนไร่ เพราะโครงการเช่นนี้ ต้องใช้พื้นที่ อย่างน้อย 4 หมื่นไร่ สำหรับการผลิตเชื้อเพลิงอัดแท่ง 1 แสนตัน/ปี หากหาพื้นที่ได้ก็นับเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ของบริษัท
สำหรับผลการดำเนินงาน 9 เดือน ของปี 2562 บริษัทฯ มีรายได้รวมจำนวน 33,611 ล้านบาท โดยรายได้หลักมาจาก 2 ส่วนที่สำคัญ คือ รายได้ค่าขายไฟจากโรงไฟฟ้าราชบุรี โรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ และบริษัท ราช-ออสเตรเลีย คอร์ปอเรชั่น รวมจำนวน 27,384 ล้านบาท คิดเป็น 81.5% ของรายได้รวม และรายได้จาก ส่วนแบ่งกำไรของกิจการร่วมทุนจำนวน 3,517.29 ล้านบาท คิดเป็น 10.5% ของรายได้รวม ทั้งนี้ บริษัทฯ มีกำไรสำหรับงวด จำนวน 5,058.41 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.4% เทียบกับงวดเดียวกันของปีที่แล้ว . – สำนักข่าวไทย